วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๔ วารสารที่เผยแพร่บทความวิชาการ และบทความวิจัยด้านพระพุทธศาสนาและปรัชญา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของวารสารโดยการดำเนินการของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่ามกลางที่โลกยังคงต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ (COVID-19) อย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง จากที่เคยควบคุมการแพร่กระจายได้ในช่วงต้นของการเกิดโรคระบาดนี้ จนประเทศได้รับการยกย่องว่ามีระบบสาธาณสุขที่ดีอันดับต้น ๆของโลก แต่แล้วในช่วงต้นปีนี้ประเทศก็ประสบปัญหาของการแพร่ระบาดอีกเป็นระลอกใหญ่ จะเห็นว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา สถิติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ยังคงเพิ่มขึ้นตลอด จนมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ประเทศชาติและประชาชนได้รับผลกระทบต่าง ๆ การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ สิ่งที่เห็นได้จากปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ ความทุกข์ยากลำบากของมนุษยชาติทั่วทุกมุมโลก ที่กำลังรอการป้องกัน รักษา และเยียวยา นับเป็นการสูญเสียประชากรโลกครั้งสำคัญ เปรียบเสมือนสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ เมื่อเรามองย้อนดู “สงครามโลก” ในอดีต และมอง “สงครามโรค” ในปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ นี้ สะท้อนให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีในยามที่ต้องประสบกับทุกข์ภัยที่อยู่ใกล้ตัว ในทางวิชาการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่หลากหลายในการระดมความคิด ความรู้ ความสามารถ เทคนิคและวิธีการต่าง ๆ โดยการศึกษาค้นคว้าและการวิจัยจากสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล ที่ถือเป็นด้านหน้า ได้ใช้ความรู้จากงานวิจัยเพื่อนำมาสู่การป้องกัน รักษา การเยียวยา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทางฝ่ายบ้านเมืองต้องใช้ทั้งหลักการและวิธีการต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของฝ่ายศาสนา ก็ย่อมมีบทบาทเข้าไปอยู่ในห้วงแห่งความยากลำบากเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เราจะเห็นว่าองค์กรของคณะสงฆ์เริ่มเข้ามามีบทบาทการให้ความรู้ การช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งกายและจิตใจ เพื่อให้ศาสนิกชนได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเหมาะสมดังที่เห็นตามสื่อต่างๆ การอนุเคราะห์ของคณะสงฆ์ซึ่งถือเป็นองค์กรที่ให้สำคัญในการเยียวยาต่อมวลมนุษย์ด้านจิตใจและร่างกาย นับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญประการหนึ่งในแง่ของการนำหลักวิชาการมาใช้ในเชิงปฏิบัติที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานหลักๆที่คอยให้การสนับสนุน เช่นมหาวิทยาลัยสงฆ์ คณะสงฆ์ไทย การดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว เป็นต้นเหล่านี้ แน่นอนว่าก่อนจะเข้าสู่ภาคปฏิบัติย่อมมีการศึกษาวิจัยอย่างมาอย่างถูกต้องตามหลักการและแนวทางที่ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเป็นไปด้วยได้ดี ดังนั้นจะเห็นว่างานวิชาการและงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับการเยียวยาผู้ป่วยโควิดในยุคปัจจุบันก็เกิดขึ้นมาในฐานะแพทย์ผู้ด่านหน้าในการรักษาโรคทางใจผ่านงานเขียนเป็นบทความในวารสารต่างๆ  วารสารหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศชาติและประชาชนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยดีและสิ้นสุดลงอย่างสุขสงบต่อไปในเร็ววัน

ด้วยความปรารถนาดีจากทีมบรรณาธิการ

วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์

เผยแพร่แล้ว: 2021-08-09

คุณลักษณะผู้นำท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการสร้างสันติสุขในชุมชน

พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ, ผศ.ดร., พระมหาวีรศักดิ์ อภินนฺทเวที, ดร., พระมหาพงศธร ธมฺมภาณี, พระวีระพจน์ ชาครธมฺโม, ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์, ดร.รุ่งรัตน์ สุวนาคกุล

56-70