อิทธิพลแห่งคำสอนพระพุทธศาสนามหายานที่มีต่อการสถาปนา เส้นทางราชมรรคาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

Main Article Content

จิรารัตน์ จารุวัฒนาศิริ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) เพื่อศึกษาความสำคัญของเส้นทางราชมรรคา (๒) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางประติมานวิทยาในงานพุทธศิลป์บนเส้นทางราชมรรคากับคติคำสอนในพระพุทธศาสนามหายาน (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลแห่งคำสอนพระพุทธศาสนามหายานที่มีต่อการสถาปนาเส้นทางราชมรรคาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบเอกสารร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี ผลการศึกษาวิจัยราชมรรคาสายพระนคร-พิมาย เป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรมาช้านาน ชุมชนแถบเมืองพิมายนอกจากเป็นแหล่งทรัพยากรแล้วยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและเป็นเครือข่ายการปกครองของอานาจักรเขมรโบราณ พอถึงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงสถาปนาเป็นถนนหลวง พร้อมกับสร้างที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลา และอโรคยศาลาไว้ตามแนวถนน และพบว่าประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรตามคติพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระหรือวัชรยาน ได้รับการนับถือเป็นรูปเคารพสำคัญ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้รับการเคารพนับถือมากที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยเฉพาะคำสอนเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจากคัมภีร์การัณฑวยูหสูตร ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ คำสอนเรื่องความเมตตากรุณาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้สะท้อนออกมาเป็นพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระองค์ อาทิเช่นทรงสถาปนาถนนราชมรรคา และคําสอนเรื่องคุณลักษณะพิเศษของพระอวโลกิเตศวร ที่สามารถอวตารปรากฏพระองค์ในรูปลักษณ์ต่างๆ เพื่อความเหมาะสมในการสั่งสอนธรรมให้แก่สรรพสัตว์ ได้สะท้อนออกมาเป็นงานประติมากรรมรูปเคารพจำนวนหนึ่งที่มีรูปลักษณ์หลากหลาย แต่ล้วนมีลักษณะพระพักตร์เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทั้งนี้เพื่อแสดงพระองค์ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

Article Details

บท
บทความวิจัย