บทบรรณาธิการ
วารสารศิลปการจัดการ ปีที่ 7 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2566) เป็นช่วงสุดท้ายของปีนี้ ที่จะทำหน้าที่เผยแพร่บทความวิจัย และบทความวิชาการที่ท่านสมาชิกตามกรอบของเวลาวารสาร ซึ่งคลื่นกระแสนวัตกรรมทางศิลปวัฒนธรรมของชนชาติ กลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ หลังจากที่ประเทศไทยเปิดประตูสู่โลกมรดกวัฒนธรรมมานานกว่า 100 ปี ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่จะผลักดันประเทศออกสู่เวทีโลก เมื่อรัฐบาลไทยที่มีพรรคเพื่อไทย ประกาศขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ซึ่งมีเป้าหมายจะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง โดยจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้น ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญจาก 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย จำนวนทั้งหมด 31 คน มีอำนาจหน้าที่ 5 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย
1) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับหรือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
2) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ในการจัดให้มี ปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ รวมทั้งมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ
4) รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณามีมติเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
5) กำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ซอฟต์พาวเวอร์ (SOFT POWER) เป็นรูปแบบของการสร้างอำนาจอย่างหนึ่ง เพื่อเป้าหมายไปสู่พลังแห่งอำนาจ (HARD POWERX) ซึ่ง Joseph S. Nye นำเสนอไว้ว่า เป็นแนวคิดการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงทางความคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้คนมีส่วนร่วม ทุกรูปแบบ และมีการเชื่อมโยงเรื่องการเมือง การปกครอง นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ตามบริบทของสังคม พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมทั้งเชิงพาณิชย์ และการแผ่อิทธิพลทางความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ประเทศไทยกำหนดซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่กำหนดไว้ 5 กลุ่ม คือ
F - FOOD อาหารไทย F - Film ภาพยนตร์ไทย F - Fashion แฟชั่นไทย F - Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย F - Festival เทศกาลประเพณีไทย
ในวารสารศิลปการจัดการ ฉบับนี้ ได้เลือกบทความซอฟท์เพาเวอร์ที่น่าสนใจ เรื่อง “การพัฒนาแผนและกิจกรรมการท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมืองมรดกโลก” เผยแพร่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาองค์ความรู้หรือจะขอความรู้ความเข้าใจกับผู้เขียนได้นำไปเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
คณะบรรณาธิการวารสารศิลปการจัดการ มองเห็นบทบาทของการสร้างแนวทางวิชาการเพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน จึงขอประกาศเชิญชวนเหล่าสมาชิกวารสาร และนักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา ได้นำเสนอบทความวิชาการตลอดปี 2567 โดยจะเลือกสรรนำตีพิมพ์เผยแพร่อย่างน้อย 1 บทความต่อฉบับ เพื่อเป็นองค์ความรู้ต่อยอดแนวทางการพัฒนาทั้งด้านวิชาการและปฏิบัติการต่อไป
ดร. ฐณาวัฒน์ หิรัญบูรณะ
บรรณาธิการวารสาร
Published: 2023-12-27