บทบรรณาธิการ
วารสารศิลปการจัดการฉบับที่ 2 เดือนเมษายน - มิถุนายน 2566 เป็นฉบับที่กองบรรณาธิการมุ่งมั่นในการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาให้มีคุณภาพตามเจตจำนงของหลักการเป็นสื่อวิชาการ ที่มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมทุกภาคส่วนของประเทศไทย และสอดคล้องกับนโยบายและหน่วยงานของมูลนิธิธรรมาภิวัตน์ โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมคลินิกวิจัย สำนักวิจัยและให้คำปรึกษา ฝึกอบรม สัมมนา และสำนักธรรมาโพลรีเสิร์ช รวมทั้งเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสาธารณะ และสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วารสารศิลปการจัดการฉบับนี้ เป็นสื่อที่พร้อมรับการนำเสนอบทความวิชาการ บทความวิจัยที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพราะสื่อทุกประเภทย่อมมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งในช่วงเวลานี้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศมากว่า 9 ปี นับจากการปฏิวัติ และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี พ.ศ.2562 และได้เป็นรัฐบาลต่อและอยู่เกือบ 4 ปี ซึ่งไม่ครบวาระได้ประกาศยุบสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. โดยประกาศให้วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ ดังนั้น สถานการณ์ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยจึงคุกรุ่นไปด้วยข้อมูลและข่าวสาร การหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง และที่ประชาชนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ คือ โพลการเมือง ที่มีสำนักโพลของสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการทางวิชาการ และสื่อมวลชน รวมแล้วมีไม่ถึง 10 ราย จัดทำขึ้นและเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นการชี้นำด้วยสถิติ ในเชิงพรรณนา ทั้งนี้ทางสำนักธรรมาโพลรีเสิร์ช ของมูลนิธิธรรมาภิวัตน์ ได้ทำการศึกษาวิจัยชุดใหญ่ เรื่อง “การศึกษาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” โดยมีงานวิจัยย่อย 3 เรื่องประกอบด้วย (1) การประเมินนโยบายพรรคการเมืองไปสู่การตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย พ.ศ. 2566 (2) การสื่อการเลือกตั้ง ของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และ (3) ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย พ.ศ. 2566 โดยสามารถติดตามวารสารฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2566 ที่จะเผยแพร่บทความวิจัยเรื่อง “การประเมินนโยบายพรรคการเมืองไปสู่การตัดสินใจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย พ.ศ. 2566” เพื่อให้ผู้อ่านได้สืบค้นงานวิจัย ที่ผลวิจัยสร้างความโดดเด่นและได้ศึกษาเป็นองค์ความรู้ใหม่ต่อไป
สำหรับบทความวิจัยเรื่องอื่นในวารสารศิลปการจัดการฉบับนี้ ก็มีความหลากหลายที่น่าสนใจอย่างเช่น “แนวทางการพัฒนาสมรรถนะดิจิทัล เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.ว)”, “การพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนชุมชนฐานรากด้านการสร้างอาชีพผ่านตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถยกระดับรายได้ ตามเส้นทางอุทยานธรณีโคราช”, “The Causal Relationship Model of the Best Practice for SMEs of the Thai Tourism Industry in Crisis and Business Continuity” เป็นต้น
นับจากฉบับนี้ กองบรรณาธิการ วารสารศิลปการจัดการ เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนารูปแบบและเนื้อหาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ หากท่านสมาชิกและท่านผู้อ่านทุกคนช่วยกันแนะนำประเด็นปัญหา และแนวทางปรับปรุงแก้ไข หรือช่วยกันสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ เพื่อให้การพัฒนาก้าวเดิน แบบมีส่วนร่วม ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ แล้วพบกันฉบับหน้า
ดร. ฐณาวัฒน์ หิรัญบูรณะ
บรรณาธิการวารสาร
Published: 2023-06-30