Vol. 8 No. 1-2 (2563): Silpa Bhirasri Journal of fine arts

					View Vol. 8 No. 1-2 (2563): Silpa Bhirasri Journal of fine arts

วารสารศิลป์ พีระศรีเดินหน้ามาถึงปีที่ 8 แต่ดั้งเดิมวารสารฉบับนี้ออกปีละ 2 ฉบับ คือฉบับกันยายนและฉบับมีนาคมโดยมีฉบับ 15 กันยายน 2556 เป็นปฐมเนื่องจากเราถือฤกษ์อันเป็นมงคลของคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ อย่างไรก็ตามเมื่อสถานะการณ์เปลี่ยนไป เพื่อให้วารสารสามารถออกได้ตามเกณฑ์ของ Thailand Citation Index คือฉบับต้นปีและกลางปี วารสารฉบับนี้จึงเป็นการรวบยอดสองฉบับเข้าหากันคือ ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 และ 2 ดังนั้นวารสาร ฉบับนี้จึงจะมีบทความมากเป็นพิเศษ รวม 12 บทความด้วยกัน จากนั้นในปี 2564 เราจะปรับการออกวารสารเป็นฉบับมกราคมและมิถุนายน

โดยในวารสารฉบับนี้เห็นแนวโน้มของการศึกษาศิลปะในหลายทิศทาง ในทิศทางแรก บทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะในต่างประเทศ ในฉบับนี้มีบทความที่ว่าด้วยการออกแบบโปสเตอร์สำหรับงานโอลิมปิกฤดูหนาว ที่ซัปโปโร 1972 สำหรับประเทศไทยที่รู้จักโอลิมปิกฤดูหนาวน้อยกว่าฤดูร้อน บทความนี้จะชี้ให้เห็นกระบวนการออกแบบที่วางอยู่บนพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ต่อเนื่องมาจากโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพในค.ศ.1964 ที่มีบทความศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบโปสเตอร์เอาไว้แล้วในวาร สารปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ส่วน บันทึกเกี่ยวกับภาพโอโจโยฌูจากการสำรวจ ณ ประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. 2562) เป็นบทความที่ศึกษาศิลปะญี่ปุ่นเช่นกันคือบทความที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของแนวความคิดเกี่ยวกับนรกและสวรรค์ที่กลายเป็นศิลปะที่แพร่หลายในสังคมญี่ปุ่นช่วงก่อนสมัยใหม่ และบทความ An Overview: Visual Communication in Photography as Healing Therapy เป็นบทความในกลุ่มเดียวกันที่เป็นการศึกษาการสื่อสารในภาพถ่ายจากประเทศมาเลเซียว่าด้วย Visual Communication in Photography 

นอกจากนี้ในกลุ่มนี้ก็ยังมีการศึกษาแนวคิดหลังอาณานิคมกับวาทกรรมความรู้ในผลงาน “This is not an Apricot” ของศิลปิน มาเรีย เธเรซา อัลเวส เราล้วนทราบดีว่าศิลปินร่วมสมัยจากภูมิภาคนี้มีพื้นฐานแนวคิดในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองของตนเองที่แข็งแกร่ง ในการศึกษาที่อาศัยวิธีการแบบโครงสร้างนิยมได้ชี้ให้เห็นการใช้สัญญะและการสื่อความหมายแฝงของศิลปินเช่นเดียวกันกับบทความประวัติศาสตร์บาดแผลในงานศิลปะร่วมสมัย กรณีศึกษาวิธีการใช้วัตถุสำเร็จรูปและวัสดุเก็บตกในงานของ อันเซล์ม คีเฟอร์ และ ไช่กว๋อเฉียง ว่าด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลในงานศิลปะร่วมสมัยที่ต้องการชี้ให้เห็นศักยภาพของศิลปะร่วมสมัยในการนำเสนอประเด็นทางสังคมและประวัติศาสตร์

ในทิศทางที่สอง บทบาทการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในชุมชนผ่านกระบวนการทางศิลปะ: กรณีศึกษาชุมชนริมคลองบางหลวง บทความที่ว่าด้วยการศึกษาบทบาทของศิลปะที่ไปมีส่วนร่วมกับสังคมภายนอก ดังเช่นบทความที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในการสร้างสรรค์ศิลปะที่พยายามนำศิลปะเข้ามามีส่วนร่วมกับคนสูงวัยอันเป็นเรื่องที่สังคมไทยเองก็ต้องเผชิญหน้าในอนาคต และ กระบวนการดำเนินงานโครงการ “ค่ายศิลปศึกษาสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์การเรียนรู้ด้านศิลปะให้กับเยาวชนเพื่อต่อยอดเส้นทางงานประกวดและส่งเสริมอาชีพ” ณ โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านท่าตะเภา) จังหวัดชุมพร บทความที่ว่าด้วยค่ายศิลปะศึกษาที่เป็นที่ยอม รับกันว่าค่ายศิลปะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนุกสนานที่สุดของมนุษย์ทุกคน ทุกวัย ทั้งสองบทความล้วนแล้วแต่เป็นการศึกษาที่น่าสนใจทั้งสิ้น

ในการศึกษาทิศทางที่สาม ความสำคัญของ “ชิ้นส่วน” และ “ร่องรอย” ของร่างกายสตรีในฐานะวัตถุสำหรับศิลปะร่วมสมัย เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะจากร่างกายมนุษย์ บทความที่ว่าด้วยร่าง กายสตรีอันเป็นพื้นที่ที่เคยถูกละเลยในฐานะสื่อเพื่อการแสดงออกถึงประเด็นของผู้หญิง ประเด็นนี้ถูกทบทวนอีกครั้งว่าชิ้นส่วนของร่างกายในบริเวณที่เฉพาะเจาะจงถูกตีความใหม่ให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัยที่สื่อสารได้อย่างตรงประเด็นได้อย่างไร ในอีกทางหนึ่งร่างกายของเพศชายและทางเลือกทางเพศที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมล้านนา ซึ่งอยู่ในบทความ บริบทที่แตกต่างกันของเกย์ในสังคมเมืองกับเกย์ล้านนาและการศึกษาภาพเกย์จากจิตรกรรมวัดภูมินทร์ โดยทั้งสองบทความล้วนแต่นำเราเข้าสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ร่างกาย” ทั้งสิ้น

ในการศึกษาทิศทางที่สี่ “วิธีการสื่อสารแนวความคิดผ่านภาพบทอินสตาแกรมของพิพิธภัณฑ์ไอศกรีม” บทความที่ทำการศึกษาการใช้ภาพในสื่อใหม่ที่อายุยังน้อยแต่กลับมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อกระบวนการคิดของคนรุ่นเยาว์ (หรือรุ่นใหญ่ด้วยก็ตาม) อย่างอินสตาแกรม จากความคิดที่ว่าด้วยการนำเสนอข้อมูลและภาพอย่างสะเปะสะปะ กลายเป็นการนำเสนอชุดความคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อสื่อสารประเด็นที่ต้องการ อินสตาแกรมของ The Ice Cream Museum อาจจะเป็นหนึ่งในกรณีนั้น บทความนี้จะวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ที่ใกล้เคียงกันคือ ภาพและคำ: รูปแบบคำบรรยายภาพในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ บทความที่ว่าด้วยการศึกษาวิธีการเขียนคำบรรยายภาพ ในพิพิธภัณฑ์เลื่องชื่ออย่าง The Rijks Museum ที่อัมสเตอร์ดัม ทราบกันดีว่า ในพิพิธภัณฑ์ปัจจุบันกับแนวคิดใหม่ของการเข้าถึงบุคคลให้ตรงและชัดเจนที่สุด ข้อความบรรยายใต้ (หรือข้างๆ) ผลงานศิลปะจึงมีบทบาทในการทำหน้าที่ช่วยให้ข้อมูลพื้นฐาน ช่วยชี้นำผู้ดูสู่ประเด็นที่น่าสนใจ รวมถึงการปรับโฟกัสผู้ดูไปยังจุดที่ต้องการสื่อสารหลัก บทความนี้จะเป็นหนึ่งในบทความแรกๆ ที่ศึกษาประเด็นนี้อย่างเป็นรูปธรรม

ในทิศทางสุดท้าย การศึกษาเรื่องเล่า “คัทธนกุมารชาดก” ในจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์จังหวัดน่าน ในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถหรือพระวิหาร การทำความเข้าใจตัวเรื่องเล่าก็เป็นกุญแจสำคัญ การศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมที่เป็นภาพเล่าเรื่องที่ได้รับความนิยมในสังคมล้านนาคือคัทธนกุมารชาดกเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับวรรณกรรมและจะได้นำไปศึกษาเทียบเคียงกับจิตรกรรมฝาผนังต่อไป

Published: 26-03-2022

Full Issue