Archives

  • July - December
    Vol. 11 No. 2 (2023)

  • January - June
    Vol. 11 No. 1 (2023)

  • Silpa Bhirasri Journal of fine arts
    Vol. 10 No. 2 (2565)

    วารสารศิลป์ พีระศรี ฉบับนี้ได้เผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กองบรรณาธิการวารสารฯ ยังคงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของวารสาร เพื่อสร้างพื้นที่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางศิลปะร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง สำหรับวารสารฉบับนี้มีบทความทั้งหมด 2 บทความ ที่น่าสนใจดังนี้

    บทความที่ 1 “จากไวท์เพ้นติ้งถึงไซเลนซ์พีซ : การแลกเปลี่ยนทางความคิดและแรงบันดาลใจระหว่างศิลปะและดนตรี” ของ อภิรักษ์ เจียรพินิจนันท์ ได้นำพาสำรวจสายธารทางความคิดภายในบทประพันธ์ 4’33” ของ จอห์น เคจ และงานจิตรกรรมของ    โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก สิ่งที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์ผลงานจิตรกรรมและดนตรีของศิลปินทั้งสองคนผ่านวิธีคิดปรัชญาตะวันออก ทำให้พบว่าสายสัมพันธ์ และการตอบโต้กันระหว่างงานดนตรีและจิตรกรรมอยู่เสมอ

    บทความที่ 2 “การแปรผันของความหมายของวัสดุกับวัตถุในงานศิลปะ” ของ อารยา แผนพรหม ได้เริ่มต้นสำรวจและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยมีคำถามเริ่มต้นจาก “แก้ว” ทั้งในทางความหมายของความเป็น “วัตถุ” และ “วัสดุ” รวมทั้งฉายให้เห็นคุณสมบัติพิเศษของแก้วที่เชื่อมโยงกับแสงและปรากฏการณ์ทางการเห็น จนทำให้บรรยากาศและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถสร้างประสบการณ์ที่หลายหลายแก่ผู้ชม

    ในวาระการดำเนินการครบรอบ 1 ทศวรรษแรกของวารสารศิลป์ พีระศรี กองบรรณาธิการขอขอบพระคุณผู้เขียนบทความ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกท่านที่ให้เกียรติ ทุ่มเท เสียสละเวลา และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเดินทางพร้อมกับทางวารสาร จนทำให้สามารถเผยแพร่บทความที่มีคุณภาพสู่สาธารณะได้มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอขอบคุณผู้อ่านที่ยังคงให้ความสนใจวิชาการศิลปะเสมอมา

     

  • Silpa Bhirasri Journal of fine arts
    Vol. 10 No. 1 (2565)

    วารสารศิลป์ พีระศรีฉบับนี้เป็นปีที่ 10 ฉบับที่ 1 นับจากฉบับแรกจนปัจจุบัน เราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการศิลปะสาขาต่าง ๆ ทั้งในแง่รูปแบบของบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความระดับบัณฑิตศึกษา ฯลฯ ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในปีแห่งการครบรอบทศวรรษนี้เราพยายามจะพัฒนามาตรฐานของวารสารให้สูงขึ้น สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการได้มากขึ้นและที่สำคัญที่สุด เรามุ่งหวังจะเป็นหนึ่งในดัชนีวัดความสำเร็จของการศึกษาทางศิลปะในประเทศไทย

    สำหรับวารสารฉบับปีที่ 10 ฉบับที่ 1 นี้ มีบทความรวมทั้งสิ้น 5 บทความ ที่มีเนื้อหาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ตะวันตก มาจนศิลปะร่วมสมัยและศิลปะที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ ดังนี้

    บทความที่ 1 สีน้ำเงินในโลกที่ล่องลอยสมัยเอโดะ เป็นบทความที่สำรวจถึงลักษณะเฉพาะของสีน้ำเงินที่ได้รับความนิยมจากศิลปินภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ ในสมัยโบราณสีน้ำเงินเป็นสีที่ศิลปินใช้น้อยเนื่องจากต้องบดมาจากหินสีน้ำเงินที่หายากและราคาแพง แต่การคิดค้นสีน้ำเงินที่ผลิตจากเคมีได้ทำให้ศิลปินเข้าถึงสีนี้ได้มากขึ้น ส่งผลให้ภาพที่ต้องการสีน้ำเงิน เช่น บริเวณท้องฟ้าในภาพทิวทัศน์แพร่หลายขึ้นมา ในกรณีของญี่ปุ่นมีเงื่อนไขเชิงสังคมวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ทำให้สีนี้แพร่หลายด้วย บทความนี้จะทำการสำรวจประเด็นดังกล่าว

    บทความที่ 2 จิตรกรรมหุ่นนิ่งในศิลปะคลาสสิค บทความนี้จะทำการสำรวจหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่สุดในจิตรกรรมตะวันตกโดยใช้หลักฐานตั้งแต่ในจิตรกรรมสมัยกรีกโบราณ จนกระทั่งสมัยคลาสสิค การจำแนกประเภททำให้เห็นว่าในหัวข้อที่ดูไม่สลักสำคัญนี้กลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตรกรรมตะวันตกอุดมสมบูรณ์ในแง่ของความหมายที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งหลังจากนี้ศิลปินบางกลุ่มจะทำให้จิตรกรรมหุ่นนิ่งกลายเป็นจิตรกรรมแห่งความหมายเชิงสัญลักษณ์อันลึกซึ้ง เกี่ยวพันกับชีวิตและความตายและมรณานุสติในที่สุด

    บทความที่ 3 การส่งผ่านสภาวะไร้รูปแห่งสายธารดิจิทัลสู่รูปธรรมในงานทัศนศิลป์ เป็นการสำรวจบทบาทของสื่อดิจิทัลที่แม้จะมีอายุไม่ยาวนานมากนักแต่เป็นสื่อที่ทรงพลังในการสำรวจประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้เทคโนโลยีและมนุษย์มีความสัมพันธ์กันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของตัวตนของมนุษย์ทั้งในแง่ส่วนบุคคลและในแบบส่วนรวมของสังคมที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากผลกระทบของสื่อชนิดนี้เอง บทความนี้ยังชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของสื่อนี้ผ่านผลงานสร้างสรรค์ของผู้เขียนบทความ/ ศิลปินเองด้วย

    บทความที่ 4 คตินิยมเรื่องสีในศิลปะและวัฒนธรรมจีน บทความนี้ชี้ให้เห็นปัจจัยทางสังคม ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีผลต่อการใช้สีประเภทต่าง ๆ ในงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ไปจนกระทั่งหน้ากากงิ้ว และประเพณีบางประการ เช่น งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น นอกเหนือจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนแล้ว บทความที่ชวนอ่านนี้ยังกระตุ้นให้เราหวนกลับมาขบคิดเกี่ยวกับประเพณีการใช้สีในสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

    บทความที่ 5 วัตถุสำเร็จรูปกับเลือดประจำเดือนในผลงานของศิลปินหญิงร่วมสมัย เป็นการสำรวจอาณาบริเวณการสร้างสรรค์ศิลปะโดยศิลปินหญิงร่วมสมัยที่สำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ศิลปินหญิงได้ทำการท้าทายกรอบของ “การสร้างสรรค์” ที่การนิยามมีมายาคติที่ให้อำนาจแก่ศิลปินชาย ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ศิลปินหญิงหลายท่านอาศัยองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ที่ศิลปินชายไม่มีหรือไม่สามารถผลิตและเข้าถึงได้ นั่นคือเลือดประจำเดือน เนื้อหาและวิธีที่ศิลปินนำเสนอจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่บทความจะศึกษาเพื่อมองหาข้อสรุปถึงศักยภาพขององค์ประกอบในลักษณะนี้

  • Silpa Bhirasri Journal of fine arts
    Vol. 9 No. 2 (2564)

    วารสารวิชาการศิลป์ พีระศรี ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 มีบทความรวมทั้งส้ิน 6 บทความ มีเนื้อหาที่หลากหลายดังนี้

    บทความ “แนวอาชีพทางศิลปะตามแนวเกมมิฟิเคชันทางออนไลน์ทางการพัฒนาการแนะแนวการศึกษาต่อและการประกอบ” เป็นบทความที่สนใจเนื้อหาของการพัฒนาเกมออนไลน์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาศิลปะ โดยอาศัยวิธีการถามตอบทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตของผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสาขานี้ชัดเจนขึ้น

    บทความ “แนวทางพัฒนาชุดกิจกรรมเรียนรู้การประดิษฐ์โคมมะเต้า Khom Craft สำหรับศูนย์การเรียนรู้บ้านโคมคำ จังหวัดน่าน” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประดิษฐ์โคมรูปแบบเฉพาะของจังหวัดน่าน โคมนี้แม้ไม่มีประโยชน์ใช้สอยจริงในปัจจุบันแล้ว แต่ยังคงมีบทบาทในการเป็นของประดับตกแต่งที่ให้ความสวยงามและสนับสนุนการท่องเที่ยวเนื่องจากให้บรรยากาศแบบท้องถิ่น การศึกษานี้พยายามแสวงหาวิธีการในการสร้างชุดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวทที่สนใจการสร้างสรรค์หัตถกรรม อันจะเป็นการฟื้นชีวิตของโคมขึ้นมาใหม่

    บทความ “ผลงาน When Adam delved and Eve span who was then the gentleman? ของนที อุตฤทธิ์” เป็นแนวทางการอ่านความหมายเชิงสัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมร่วมสมัยที่ศิลปินใช้วิธีการแอพโพรพริเอทหรือหยิบยืมระบบความหมายมาจากจิตรกรรมตะวันตกในประวัติศาสตร์มาจนกระทั่งสมัยใหม่และร่วมสมัยจากนั้นเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในสมัยปัจจุบันเข้าไป ความน่าสนใจของจิตรกรรมและบทความอยู่ที่การมองหาความสัมพันธ์ของสัญญะที่กระจัดกระจายหรือบางครั้งซ่อนตัวอยู่ในภาพ นำมาส่องวิเคราะห์ให้เห็นการสื่อความหมายแฝงและความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย

    อุดมคติหรือยูโทเปีย แนวคิดนี้มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนสติบุคคลเกี่ยวกับโลกอนาคตซึ่งปรากฏในจิตรกรรมตั้งแต่สมัยเรอเนสซองส์ เช่น ภาพของโลกหลังจากน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ เป็นต้น ในศิลปะและสื่อร่วมสมัยมักเป็นการสร้างภาพเกี่ยวกับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือหลังสงครามใหญ่ บทความเป็นการวิเคราะห์การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ในภาพยนตร์ชุดหรือภาพยนตร์ซีรี่ส์ว่าได้นำเสนอแนวคิดและต่อต้านแนวคิดดิสโทเปียอย่างไร

    บทความ “ร่องรอยของคนที่อยู่บนวัตถุและพื้นที่ทางศิลปะ” เป็นบทความที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาที่ให้ความสำคัญกับแนวทางสุนทรียสัมพันธ์อันเป็นแนวทางสุนทรียภาพที่นำเสนอโดยนักวิชาการศิลปะชาวฝรั่งเศสนิโกลาส์ บุริโยด์ แนวทางนี้เมื่อทำการสำรวจงานศิลปะหลายชิ้นพบว่ามีลักษณะสอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าด้วยมีความเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับผู้ชมที่ไม่ผ่านระบบพาณิชย์อันเป็นแนวทางความคิดแบบมาร์กซิสม์

    และบทความ “การเล่าเรื่องราวผ่านงานสร้างสรรค์ด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี VR/AR” เป็นบทความที่มาจากงาน Re-Inventing Silpakorn โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ในส่วนของคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ได้รับผิดชอบจัดการบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างสรรค์และวิจัยด้านศิลปะ (DIGITAL TECHNOLOGY FOR ARTISTIC CREATIVITY AND RESEARCH) ซึ่งหนึ่งในการบรรยายโดยศิลปินที่ใช้เทคนโนโลยี AR/AR เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์คือคุณซูฟีย์ ยามา และได้ส่งบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ภายใต้ชื่อข้างต้นด้วย เนื้อหาสำคัญของบทความนี้อยู่ที่การรวบยอดความคิดให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้แม้จะถูกใช้ในกิจกรรมการวิจัยหรือสำรวจความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ แต่ศิลปินเองก็เล็งเห็นความสำคัญนี้และใช้สร้างสรรค์ผลงานโดยที่ทำให้ผู้ชมผลงานเหล่านั้นมีส่วนร่วมกับผลงานอย่างมาก

1-5 of 21