การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้การตอบแทนสังคมเป็นฐานร่วมกับการคิดเชิงออกแบบเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะ สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษาทวิภาคี

Main Article Content

ศศิวัฒน์ หอยสังข์
ดวงใจ สีเขียว
รุ่งทิวา แย้มรุ่ง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ (1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ (2) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ (3) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ใช้รูปแบบกระบวนการวิจัยและพัฒนา มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) พัฒนาองค์ประกอบ ตัวชี้วัด แนวทางการพัฒนารูปแบบที่ส่งเสริมจิตสาธารณะ 2) การสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) การทดลองใช้ 4) การปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่าง คือนักศึกษาอาชีวศึกษาทวิภาคี คณะการตลาด วิทยาลัยไทยบริหารธุรกิจร่วมกับศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 18 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเพื่อหาประสิทธิผลของรูปแบบ ประกอบด้วย แบบวัดจิตสาธารณะมีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.50-0.97 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98 แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.20-0.80, ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.76, และค่าความยากง่ายระหว่าง 0.25-0.80 และแบบประเมินความพึงพอใจ ทุกข้อคำถามมีความสอดคล้องทุกรายการ มีค่าระหว่าง 0.67-1.00 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปตามวัตถุประสงค์ พบว่า (1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ฯ มี 4 องค์ประกอบ คือ 1.1) หลักการ 1.2) วัตถุประสงค์ 1.3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน คือ 1) ตระหนักรู้ดูให้คิด 2) บ่มเพาะพฤติกรรม 3) ค้นหาวิธีการ 4) รับใช้สังคม 5) ตกผลึกความรู้ และ 1.4) การวัดและการประเมินการจัดการเรียนรู้ (2) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วยการประเมินความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าระหว่าง 4.35-5.00 และการประเมินความสอดคล้องในทุกรายการประเมิน มีค่าระหว่าง 0.8-1.00 (3) ผลการศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่านักศึกษามีระดับจิตสาธารณะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาโครงการ สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีค่าระหว่าง 4.68-4.83 อยู่ในระดับมากที่สุด

Article Details

บท
บทความวิจัย