ผลของการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนมุ่งประสบการณ์ภาษาแบบประยุกต์ (CLEA) ที่มีต่อทักษะการอ่านภาษาไทยของนักเรียนที่อ่านไม่ได้ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับทักษะการอ่านภาษาไทยของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนมุ่งประสบการณ์ภาษาแบบประยุกต์ 2) ศึกษาทักษะการอ่านภาษาไทยของนักเรียนก่อน และหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนมุ่งประสบการณ์ภาษาแบบประยุกต์ กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านภาษาไทยไม่ได้โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2558 จำนวน 16 คน ได้จากวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการสอนมุ่งประสบการณ์ภาษาแบบประยุกต์ 2) แบบวัดทักษะการอ่านภาษาไทยวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าร้อยละ (Percentages) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviations) การทดสอบค่าที ชนิดกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว (Dependent Sample t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนมุ่งประสบการณ์ภาษาแบบประยุกต์ (CLEA) มีระดับทักษะการอ่านภาษาไทยอยู่ในระดับพอใช้ 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนมุ่งประสบการณ์ภาษาแบบประยุกต์ มีทักษะการอ่านภาษาไทย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01