การศึกษาความสามารถในการทำโครงงานสะเต็มศึกษา กระบวนการกลุ่ม ทักษะการนำเสนอโครงงานและคุณภาพของโครงงาน ด้วยการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดการประเมินเพื่อการเรียนรู้ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการทำโครงงานสะเต็มศึกษา กระบวนการกลุ่ม ทักษะการนำเสนอโครงงานและคุณภาพของโครงงานด้วยการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดการประเมินเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ห้องความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายมีจำนวน 15 คน นักเรียนจัดกลุ่มทำโครงงานทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ฤทธิ์สารประกอบในยาดมขจัดคราบน้ำยาลบคำผิด กลุ่มที่ 2 เครื่องย่อยกระดาษ กลุ่มที่ 3 Helmet Dynamo : หมวกกันน๊อกนักปั่นไฟ กลุ่มที่ 4 Nightmare for Burglar: แผ่นเพียโซกันขโมย กลุ่มที่ 5 โมเดลสัญญาณเตือนทางม้าลาย โดยคณะผู้วิจัยทำการประเมินนักเรียนด้วยวิธีการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) 3 ทางดังนี้ การประเมินผลโดยเพื่อน (Peer Assessment) การประเมินผลโดยตัวผู้เรียน (Self - Assessment) และการประเมินผลโดยครูผู้สอน (Teacher Assessment) ในช่วงระหว่างทำการทดลอง และสิ้นสุดการทดลองในปีการศึกษา 2560 ภาคเรียนที่ 2 โดยใช้แบบประเมินความสามารถในการทำโครงงานสะเต็มศึกษา แบบประเมินทักษะการนำเสนอโครงงานแบบประเมินกระบวนการกลุ่มและแบบประเมินคุณภาพของโครงงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย () ร้อยละ (%) และร้อยละของการพัฒนา
ผลการวิจัยพบว่า 1) ความสามารถในการทำโครงงานแบบสะเต็มและคุณภาพของโครงงานของนักเรียนทั้ง 5 กลุ่ม อยู่ในระดับดีมาก 2) กระบวนการกลุ่มของนักเรียน 4 กลุ่ม อยู่ในระดับดีมาก สำหรับกลุ่มที่ 5 อยู่ในระดับปานกลาง 3) ทักษะในการนำเสนอโครงงานของนักเรียน 4 กลุ่ม อยู่ในระดับดีมาก สำหรับกลุ่มที่ 2 อยู่ในระดับพอใช้