การจัดการเทคนิคการสอนด้วยนวัตกรรมห้องเรียนออนไลน์ โดย Google Classroom สู่ไทยแลนด์ 4.0 ของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อวัดระดับความต้องการและประโยชน์ของนวัตกรรม 2) เพื่อวัดระดับความ พึงพอใจต่อการใช้นวัตกรรม และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาการใช้นวัตกรรมกับการเรียนการสอนและการ บูรณาการ ประชากรและขอบเขตงานวิจัย เป็นคณาจารย์และนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ทุกสาขาวิชา ชั้นปี และรอบการเรียนที่ใช้นวัตกรรม โดยเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม สร้างเป็น 3 ชุด แยกถาม คณาจารย์ 20 คน นักศึกษา 267 คน และสุ่มสัมภาษณ์นักศึกษา 57 คน โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่าอาจารย์ทุกสาขาวิชามีการใช้นวัตกรรม ซึ่งมีความเข้าใจต่อนวัตกรรมอยู่ในระดับมากถึง มากที่สุด และสามารถนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ การส่งการบ้าน การทำแบบฝึกหัด การใช้สื่อสารกับนักศึกษา และทดสอบย่อย อาจารย์ส่วนใหญ่ไม่พบปัญหา ยกเว้นด้านอินเตอร์เน็ต ด้านความแตกต่างจากการสอน ด้วยนวัตกรรมกับการสอนแบบทั่วไป ได้ผลว่ามีแนวตอบใกล้เคียงกัน โดยมีประเด็นได้แก่ นักศึกษาสามารถติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต สะดวก รวดเร็ว มีความทันสมัย ช่วยประหยัดเวลาและกระดาษ อาจารย์ส่วนใหญ่ให้ข้อคิดเห็นเช่นเดียวกับนักศึกษา ได้แก่ มีความเหมาะสมมากที่จะนำนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการประหยัดพื้นที่จัดเก็บผลงานนักศึกษา ประหยัดกระดาษ และประหยัดค่าใช้จ่าย มีข้อปรับปรุงได้แก่ ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับความซับซ้อนของระบบ เช่น การแจ้งเตือน และการเชิญเข้ากลุ่ม แนวตอบของนักศึกษาด้านการใช้นวัตกรรม ผลวิจัยพบว่าความถี่ในการเข้าใช้งาน จะเข้าใช้เมื่อได้รับแจ้งเตือนจากอาจารย์ เหตุผลที่นักศึกษาเข้าใช้งาน ได้แก่ ส่งงาน ดูสื่อการสอน และติดตามงาน นักศึกษามีความรู้ด้านนวัตกรรมอยู่ในระดับปานกลาง คิดว่าสามารถนำไปใช้กับการเรียนการสอนในระดับมาก และใช้ได้กับรายวิชาอื่นอย่างเป็นผลดี ปัญหาที่พบมาจากอินเตอร์เน็ต ในการสัมภาษณ์นักศึกษาพบว่านวัตกรรมมีจุดเด่นด้านความสะดวกรวดเร็ว การติดตามงานได้ทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ต และมีความทันสมัย จุดด้อยเป็นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ที่ใช้ไม่มีการแจ้งเตือน และมีข้อจำกัดเรื่องส่งงานที่เป็นคลิปวิดีโอ ความคิดเห็นเพิ่มเติมเห็นว่านวัตกรรมสามารถใช้เรียนทางไกลได้และมีประโยชน์มาก