รูปแบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาและกีฬาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 จังหวัดพะเยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาและกีฬา ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 จังหวัดพะเยา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนพลศึกษาและกีฬา กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) จำนวน 18 โรงเรียน ๆ ละ 15 คน รวมทั้งสิ้น 270 คน เครื่องมือการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และการประชุมสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การดำเนินการวิจัย มี 3 ขั้นตอน คือ 1. การศึกษาสภาพการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาฯ 2. การสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาฯ และ 3. การประเมินรูปแบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาฯ
ผลการวิจัย พบว่า 1. การศึกษาสภาพการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาฯ ในภาพรวม อยู่ในระดับน้อย 2. การสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาฯ มี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) นโยบายการบริหารความเสี่ยงฯ 2) วัตถุประสงค์การบริหารความเสี่ยงฯ 3) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงฯ และ 4) กระบวนการบริหารความเสี่ยงฯ มี 6 ขั้นตอน คือ 1) ระบบความเสี่ยงฯ 2) ประเมินความเสี่ยงฯ 3) ตอบสนองต่อความเสี่ยงฯ 4) กิจกรรมควบคุมความเสี่ยงฯ 5) สารสนเทศและการสื่อสารการบริหารความเสี่ยงฯ และ 6) การติดตามประเมินผลการบริหารความเสี่ยงฯ ทุกองค์ประกอบนี้มีความเหมาะสม และถูกต้อง ครอบคลุมในระดับมาก และ 3) การประเมินรูปแบบการบริหารความเสี่ยงด้านการเรียนการสอนพลศึกษาฯ มีประโยชน์ และมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก