ผลการสอนโดยใช้แผนผังความคิดที่มีต่อทักษะและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา

Main Article Content

บุญสนอง วิเศษสาธร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอและการแปลผล ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักศึกษาที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังความคิด 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักศึกษาที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังความคิด 3) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจต่อการสอนโดยใช้แผนผังความคิด โดยใช้แบบแผนการวิจัย
แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังทดลอง ตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะศึกษาศาสตร์ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเอกภาษาไทย จำนวน 38 คน ที่ศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 เครื่องมือวิจัยได้แก่ 1) แผนการสอนโดยใช้แผนผังความคิด จำนวน 5 แผน เรื่องสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล10 คาบ คาบละ 50 นาที 2) แบบวัดทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอและการแปลผล 3) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 4) แบบวัดความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิตทดสอบที (dependent samples t - test)
ผลการวิจัย พบว่า 1) นักศึกษามีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอและการแปลผลหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียน เท่ากับ 9.74 และ 24.50 คะแนน ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน 2) นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียน เท่ากับ 9.53 และ 13.08 คะแนน ตามลำดับ จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน 3) นักศึกษามีความพึงพอใจต่อการสอนโดยใช้แผนผังความคิด ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.29 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ .42 เมื่อพิจารณารายด้านพบว่านักศึกษามีความพึงพอใจด้านผู้สอนมากที่สุด รองลงมาคือด้านเนื้อหา และน้อยที่สุดคือด้านสื่อการสอน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40, 4.35 และ 4.11 ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย