Vol. 9 No. 2 (2564): Silpa Bhirasri Journal of fine arts

					View Vol. 9 No. 2 (2564): Silpa Bhirasri Journal of fine arts

วารสารวิชาการศิลป์ พีระศรี ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 มีบทความรวมทั้งส้ิน 6 บทความ มีเนื้อหาที่หลากหลายดังนี้

บทความ “แนวอาชีพทางศิลปะตามแนวเกมมิฟิเคชันทางออนไลน์ทางการพัฒนาการแนะแนวการศึกษาต่อและการประกอบ” เป็นบทความที่สนใจเนื้อหาของการพัฒนาเกมออนไลน์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาศิลปะ โดยอาศัยวิธีการถามตอบทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตของผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสาขานี้ชัดเจนขึ้น

บทความ “แนวทางพัฒนาชุดกิจกรรมเรียนรู้การประดิษฐ์โคมมะเต้า Khom Craft สำหรับศูนย์การเรียนรู้บ้านโคมคำ จังหวัดน่าน” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประดิษฐ์โคมรูปแบบเฉพาะของจังหวัดน่าน โคมนี้แม้ไม่มีประโยชน์ใช้สอยจริงในปัจจุบันแล้ว แต่ยังคงมีบทบาทในการเป็นของประดับตกแต่งที่ให้ความสวยงามและสนับสนุนการท่องเที่ยวเนื่องจากให้บรรยากาศแบบท้องถิ่น การศึกษานี้พยายามแสวงหาวิธีการในการสร้างชุดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวทที่สนใจการสร้างสรรค์หัตถกรรม อันจะเป็นการฟื้นชีวิตของโคมขึ้นมาใหม่

บทความ “ผลงาน When Adam delved and Eve span who was then the gentleman? ของนที อุตฤทธิ์” เป็นแนวทางการอ่านความหมายเชิงสัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมร่วมสมัยที่ศิลปินใช้วิธีการแอพโพรพริเอทหรือหยิบยืมระบบความหมายมาจากจิตรกรรมตะวันตกในประวัติศาสตร์มาจนกระทั่งสมัยใหม่และร่วมสมัยจากนั้นเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในสมัยปัจจุบันเข้าไป ความน่าสนใจของจิตรกรรมและบทความอยู่ที่การมองหาความสัมพันธ์ของสัญญะที่กระจัดกระจายหรือบางครั้งซ่อนตัวอยู่ในภาพ นำมาส่องวิเคราะห์ให้เห็นการสื่อความหมายแฝงและความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย

อุดมคติหรือยูโทเปีย แนวคิดนี้มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนสติบุคคลเกี่ยวกับโลกอนาคตซึ่งปรากฏในจิตรกรรมตั้งแต่สมัยเรอเนสซองส์ เช่น ภาพของโลกหลังจากน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ เป็นต้น ในศิลปะและสื่อร่วมสมัยมักเป็นการสร้างภาพเกี่ยวกับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือหลังสงครามใหญ่ บทความเป็นการวิเคราะห์การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ในภาพยนตร์ชุดหรือภาพยนตร์ซีรี่ส์ว่าได้นำเสนอแนวคิดและต่อต้านแนวคิดดิสโทเปียอย่างไร

บทความ “ร่องรอยของคนที่อยู่บนวัตถุและพื้นที่ทางศิลปะ” เป็นบทความที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมาที่ให้ความสำคัญกับแนวทางสุนทรียสัมพันธ์อันเป็นแนวทางสุนทรียภาพที่นำเสนอโดยนักวิชาการศิลปะชาวฝรั่งเศสนิโกลาส์ บุริโยด์ แนวทางนี้เมื่อทำการสำรวจงานศิลปะหลายชิ้นพบว่ามีลักษณะสอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าด้วยมีความเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับผู้ชมที่ไม่ผ่านระบบพาณิชย์อันเป็นแนวทางความคิดแบบมาร์กซิสม์

และบทความ “การเล่าเรื่องราวผ่านงานสร้างสรรค์ด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี VR/AR” เป็นบทความที่มาจากงาน Re-Inventing Silpakorn โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ในส่วนของคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ได้รับผิดชอบจัดการบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างสรรค์และวิจัยด้านศิลปะ (DIGITAL TECHNOLOGY FOR ARTISTIC CREATIVITY AND RESEARCH) ซึ่งหนึ่งในการบรรยายโดยศิลปินที่ใช้เทคนโนโลยี AR/AR เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์คือคุณซูฟีย์ ยามา และได้ส่งบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ภายใต้ชื่อข้างต้นด้วย เนื้อหาสำคัญของบทความนี้อยู่ที่การรวบยอดความคิดให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้แม้จะถูกใช้ในกิจกรรมการวิจัยหรือสำรวจความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ แต่ศิลปินเองก็เล็งเห็นความสำคัญนี้และใช้สร้างสรรค์ผลงานโดยที่ทำให้ผู้ชมผลงานเหล่านั้นมีส่วนร่วมกับผลงานอย่างมาก

Published: 24-06-2022

Full Issue