รูปแบบบทความ
(ให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วารสารปีที่ 25 ฉบับที่ 1 (2019))
1. ประเภทและเนื้อหาของบทความ
1.1. ประเภทบทความที่วารสารรับพิจารณาตีพิมพ์ ได้แก่ บทความวิจัย บทความที่ไม่ได้มาจากงานวิจัย และบทปริทัศน์หนังสือ
1.2. บทความจะต้องเป็นบทความวิชาการทางสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงในสาขาวิชารัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ที่มีสารัตถะสำคัญเกี่ยวกับภูมิภาคยุโรป ตลอดจนความสัมพันธ์และบทบาทของของยุโรปในโลก
2. ภาษาของบทความ
2.1. บทความจะต้องเขียนขึ้นในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ภาษาเดียวตลอดบทความ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้คำศัพท์ในภาษาที่มิใช่ภาษาหลักของบทความ เช่น คำศัพท์เฉพาะทาง หรือ ชื่อเฉพาะ ให้แปลหรือถ่ายเสียงคำศัพท์นั้นเป็นภาษาหลักของบทความแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งระบุคำศัพท์ในภาษาเดิมต่อท้ายไว้ในวงเล็บ ตัวอย่างเช่น "ฮัพส์บวร์ค (Habsburg)"
2.2. ผู้เขียนจะต้องรับผิดชอบพิสูจน์อักษรบทความอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนส่งเข้ารับพิจารณาตีพิมพ์ บรรณาธิการอาจบอกปฏิเสธบทความที่มีข้อผิดพลาดในการสะกดคำและหลักไวยากรณ์ก็ได้
2.3. การสะกดคำศัพท์ในภาษาไทย รวมถึงการแปลและการถ่ายเสียงคำศัพท์ภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย ต้องเป็นไปตามหลักการที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนด
2.4. การสะกดคำในภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวสะกดตามแบบอังกฤษหรืออเมริกันเท่านั้น และใช้แบบตัวสะกดแบบเดียวตลอดบทความ
3. ข้อมูลสำคัญของบทความ (Metadata)
3.1. ข้อมูลสำคัญของบทความประกอบด้วย ชื่อบทความ ชื่อและสังกัดผู้เขียน บทคัดย่อ (abstract) และคำสำคัญ (keywords)
3.2. ในกรณีที่บทความเขียนขึ้นในภาษาไทย ผู้เขียนจะต้องจัดทำและส่งข้อมูลสำคัญของบทความทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในกรณีที่บทความเขียนขึ้นในภาษาอังกฤษ ผู้เขียนอาจจัดทำและส่งข้อมูลสำคัญของบทความในภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวก็ได้ หากผู้เขียนมิได้ส่งข้อมูลสำคัญของบทความให้แก่กองบรรณาธิกรอย่างครบถ้วนตามเงื่อนไข บรรณาธิการอาจบอกปฏิเสธบทความชิ้นนั้นก็ได้
3.3. ผู้เขียนทุกคนจะต้องระบุสังกัดเป็นสถาบันการศึกษาหรือสถานที่ทำงานด้านวิชาการ ในระดับคณะ วิทยาลัย สำนักวิชา กอง หรือเทียบเท่า และระดับมหาวิทยาลัย กรม หรือเทียบเท่า ในกรณีที่ผู้เขียนไม่มีสังกัดในลักษณะข้างต้น ให้ระบุจังหวัดที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันเป็นสังกัดของผู้เขียน
3.4. บทคัดย่อในภาษาไทยจะต้องมีความยาวไม่เกินครึ่งหน้ากระดาษ บทคัดย่อภาษาอังกฤษจะต้องมีความยาวไม่เกิน 250 คำ
3.5. ผู้เขียนจะต้องระบุคำสำคัญของบทความอย่างน้อย 3 คำ แต่ไม่เกิน 5 คำ
4. ความยาวของบทความ
4.1. บทความที่เสนอเข้ารับพิจารณาตีพิมพ์ทุกประเภทจะต้องมีความยาวอย่างน้อย 10 หน้า แต่ไม่เกิน 25 หน้ากระดาษขนาด A4 (เว้นระยะขอบกระดาษด้านละ 2.5 เซนติเมตร) ไม่นับรวมพื้นที่ของเชิงอรรถท้ายหน้าและบรรณานุกรม
4.2. ให้ผู้เขียนระบุเลขหน้าเป็นตัวเลขอารบิกที่มุมขวาล่างของหน้ากระดาษทุกหน้า
5. แบบอักษรและแบบย่อหน้า
5.1. ให้ผู้เขียนตั้งค่าแบบอักษรของเนื้อความปกติและบรรณานุกรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็น TH Saraban New ขนาด 16 pt สีดำ ไม่หนา (Bold) ไม่เอียง (Italic)
5.2. ให้ผู้เขียนตั้งค่าระยะห่างระหว่างบรรทัดเป็นระยะบรรทัดเดียว (Single/1.0) ระยะห่างระหว่างย่อหน้า 8 pt และจัดตัวอักษรในทุกย่อหน้าให้ชิดขอบทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้ากระดาษ โดยในบทความภาษาไทย ให้เลือกใช้รูปแบบการจัดแบบ "กระจายแบบไทย" (Thai Distributed) ส่วนในบทความภาษาอังกฤษ ให้เลือกใช้แบบ "ชิดขอบ" (Justify)
5.3. ให้ผู้เขียนเว้นระยะย่อหน้า 1 แท็บ (tab) ทุกครั้งเมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่
6. ลำดับชั้นของหัวเรื่อง
6.1. ชื่อบทความให้ใช้แบบอักษรและแบบย่อหน้าตามความในข้อ 5 แต่ให้เพิ่มขนาดอักษรเป็น 18 pt ใช้แบบอักษรตัวหนา และใช้รูปแบบการจัดตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบบ "กึ่งกลาง" (Center)
6.2. หัวเรื่องระดับที่ 1 ให้ใช้แบบอักษรและแบบย่อหน้าตามความในข้อ 5 แต่ให้ใช้แบบอักษรตัวหนา และใช้รูปแบบการจัดตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบบ "ชิดซ้าย" (Align Left) โดยเว้นบรรทัด 1 บรรทัดก่อนขึ้นหัวเรื่อง แต่ไม่ต้องเว้นระยะย่อหน้าหน้าข้อความหัวเรื่อง
6.3. หัวเรื่องระดับที่ 2 ให้ใช้แบบอักษรและแบบย่อหน้าตามความในข้อ 5 แต่ให้ใช้แบบอักษรขีดเส้นใต้เส้นเดียว และใช้รูปแบบการจัดตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบบ "ชิดซ้าย" โดยเว้นบรรทัด 1 บรรทัดก่อนขึ้นหัวเรื่อง และเว้นระยะย่อหน้า 1 แท็บ หน้าข้อความหัวเรื่อง
6.4. หัวเรื่องระดับที่ 3 ให้ใช้แบบอักษรและแบบย่อหน้าตามความในข้อ 5 แต่ให้ใช้แบบอักษรตัวเอียง และใช้รูปแบบการจัดตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบบ "ชิดซ้าย" โดยเว้นบรรทัด 1 บรรทัดก่อนขึ้นหัวเรื่อง และเว้นระยะย่อหน้า 2 แท็บ หน้าข้อความหัวเรื่อง
6.5. ผู้เขียนอาจกำหนดหมายเลขประจำหัวเรื่องก็ได้ โดยให้กำหนดเป็นตัวเลขอารบิกในรูปแบบ 1. --> 1.1. --> 1.1.1.
7. รูปภาพ ตาราง และแผนภูมิ
7.1. ผู้เขียนอาจแทรกรูปภาพ ตาราง หรือแผนภูมิประกอบบทความด้วยก็ได้ โดยจะต้องส่งไฟล์ของรูปภาพ ตาราง หรือแผนภูมิเหล่านั้น ในนามสกุล .jpg .jpeg หรือ .png มาพร้อมกับไฟล์บทความด้วย ในกรณีรูปภาพ ไฟล์ควรมีความละเอียดไม่น้อยกว่า 300 พิกเซลต่อนิ้ว (ppi) และมีขนาดใหญ่พอสำหรับการตีพิมพ์ให้มองเห็นได้ชัดเจน
7.2. ให้ผู้เขียนใส่หมายเลขอารบิกกำกับรูปภาพ ตาราง หรือแผนภูมิ ที่แทรกไว้ ตามลำดับตลอดบทความ และให้ใช้ลำดับหมายเลขชุดเดียวกันในการอ้างถึงแต่ละรูปภาพ ตาราง หรือแผนภูมิ ให้สม่ำเสมอตลอดบทความ
7.3. ให้ผู้เขียนระบุหมายเลข คำบรรยาย และแหล่งที่มาของรูปภาพ ตาราง หรือแผนภูมิ ไว้ใต้รูปภาพ ตาราง หรือแผนภูมิ โดยใช้แบบอักษรตามความในข้อ 5 แต่ให้กำหนดขนาดอักษรเป็น 12 pt และใช้รูปแบบการจัดตัวอักษรแบบ "กึ่งกลาง"
8. เชิงอรรถ
8.1. ผู้เขียนอาจแทรกเชิงอรรถในบทความก็ได้ โดยให้ทำเป็นการอ้างอิง (endnote) ด้วยเครื่องมือ "แทรกอ้างอิงท้ายเรื่อง" (Insert Endnote) ของโปรแกรม Microsoft Word
8.2. ให้ผู้เขียนใส่หมายเลขอารบิกกำกับเชิงอรรถท้ายหน้าตามลำดับตลอดบทความ และให้ใช้ลำดับหมายเลขชุดเดียวกันในการอ้างถึงแต่ละเชิงอรรถให้สม่ำเสมอตลอดบทความ
8.3. ให้ผู้เขียนตั้งค่าแบบอักษรเชิงอรรถตามความในข้อ 5 แต่ให้กำหนดขนาดอักษรเป็น 12 pt ตั้งค่าระยะห่างระหว่างย่อหน้า 4 pt และไม่ต้องเว้นระยะย่อหน้า (แท็บ) หน้าข้อความเชิงอรรถ ในกรณีที่เชิงอรรถใดเป็นรายการอ้างอิง ให้ใช้แบบอักษรตามรูปแบบการอ้างอิงที่วารสารกำหนด
9. รูปแบบการอ้างอิงและบรรณานุกรม
9.1. บทความจะต้องมีการอ้างอิงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ในกรณีที่กองบรรณาธิการวารสารพบว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้เขียนกระทำการอันเข้าข่ายการโจรกรรมทางวิชาการ หรือละเมิดจริยธรรมทางวิชาการและการวิจัยอย่างร้ายแรง บรรณาธิการจะบอกปฏิเสธบทความทันที
9.2. การอ้างอิงให้ทำเป็นการอ้างอิงท้ายเรื่อง (Endnote) โดยใช้รูปแบบการอ้างอิงตามที่วารสารกำหนด (โปรดดู "รูปแบบการอ้างอิง") บรรณาธิการอาจบอกปฏิเสธบทความที่อ้างอิงผิดรูปแบบก็ได้
9.3. ผู้เขียนอาจจัดทำบรรณานุกรมประกอบท้ายบทความก็ได้ โดยใช้รูปแบบบรรณานุกรมตามที่วารสารกำหนด (โปรดดู "รูปแบบการอ้างอิง") บรรณาธิการอาจบอกปฏิเสธบทความที่จัดทำบรรณานุกรมผิดรูปแบบก็ได้
10. ลิขสิทธิ์
10.1. ผู้เขียนบทความมีหน้าที่ในการขออนุญาตใช้วัสดุที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้เขียนบทความมีความรับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการคัดลอก และทำสำเนาวัสดุที่มีลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด การคัดลอกข้อความหรือเนื้อหาจากแหล่งอื่นโดยไม่มีการอ้างอิงถือเป็นการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการที่ร้ายแรง และเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีใด ๆ เกิดขึ้น ผู้เขียนบทความมีความรับผิดชอบทางกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว
10.2. เมื่อเสนอบทความเข้ารับพิจารณาตีพิมพ์ ผู้เขียนยอมรับว่า หากบทความได้รับความเห็นชอบให้ตีพิมพ์แล้ว บทความดังกล่าวถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารยุโรปศึกษา ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง และจัดเผยแพร่ โดยมุ่งประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร
11. รูปแบบการส่งบทความ
11.1. ผู้เขียนจะต้องส่งไฟล์บทความทั้งในนามสกุล .docx และ .pdf ที่มีข้อมูลสำคัญของบทความและองค์ประกอบอื่นของบทความ พร้อมทั้งส่งไฟล์รูปภาพ ตารางและแผนภูมิในนามสกุล .jpe .jpeg หรือ .png ให้ครบถ้วน
11.2. การส่งบทความให้ดำเนินการตามเงื่อนไขและวิธีการที่วารสารกำหนด (โปรดดู "ขั้นตอนการส่งบทความตีพิมพ์")