วิกฤตผู้ลี้ภัยยุโรป 2015 กับพหุนิยมทางวัฒนธรรมและความเห็นสาธารณะในรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป
คำสำคัญ:
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม, ผู้ลี้ภัย, การก่อการร้าย, สหภาพยุโรปบทคัดย่อ
คำว่า ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ถือได้ว่าเป็นศัพท์ทางการเมืองที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในยุคปัจจุบัน แม้ว่าตอนนี้ความสำคัญของคำดังกล่าวได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถือกำเนิดขึ้นของกระแสการก่อการร้ายที่ยิ่งนำไปสู่การปิดตัวทางวัฒนธรรมมากขึ้นในหลายประเทศ และทำให้กระแสความนิยมของความหลากหลายทางวัฒนธรรมลดลงไปอย่างชัดเจน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายนั้นมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงที่ทำให้แม้กระทั่งประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปที่มีมรดกทางวัฒนธรรมอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายนั้นไม่สามารถเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าวได้อีกต่อไป มิหนำซ้ำ หลายประเทศในยุโรปเองยังต้องเผชิญกับปัญหาของผู้อพยพที่ได้ทำการโยกย้ายถิ่นฐานมาเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ที่ทำให้ทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและประชาชนชาวยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าควรให้ความสำคัญแก่ความปลอดภัยของตนเองหรือความเป็นมนุษย์ในการช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้มากกว่ากัน ด้วยเหตุทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จึงทำใข้าพเจ้าสนใจและต้องการที่จะศึกษาความเป็นมาของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับสถานภาพของความหลากหลายทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังจะทำการศึกษาในประเด็นของความคิดเห็นสาธารณะที่มีต่อนโยบายต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาผู้อพยพ จนไปถึงการที่ผู้อพยพเหล่านั้นถูกมองว่าเป็น “ปัญหาต่อความปลอดภัย” ในสังคมปัจจุบันอีกด้วย