การสังเคราะห์รายงานการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 1 (ปีการศึกษา 2563) สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ผู้แต่ง

  • ณทิพรดา ไชยศิลป์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

คำสำคัญ:

การสังเคราะห์, รายงานการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 1, สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา

บทคัดย่อ

             การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์ผลการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนักศึกษาหลักสูตรสาขาการสอนสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2563 เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างรายงานการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษากับมาตรฐานวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และเพื่อเสนอแนวการพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษาในรายวิชาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยสังเคราะห์เนื้อหาจากเอกสาร (Content Synthesis) โดยใช้แบบประเมินรายงาน แบบสังเคราะห์แบบบันทึกการเรียนรู้ แบบสังเคราะห์แบบสรุปผลการเรียนรู้ และแบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง เพื่อสอบถามประเด็นมาตรฐานวิชาชีพกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า การประเมินรูปแบบรายงานการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา 1 โดยภาพรวมของรายงานถูกต้องตามคู่มือที่กำหนดให้ มีเพียงบางหัวข้อที่แตกต่างกัน

             ผลการสังเคราะห์แบบบันทึกการเรียนรู้ ปส. 1 -6 พบว่า (1) นักศึกษามีความเข้าใจความ สำคัญของงานธุรการในทิศทางเดียวกัน (2) นักศึกษาพบปัญหาของนักเรียนในด้านการเรียนรู้และได้ใช้หลักกัลยาณมิตตธรรมในการแก้ปัญหา (3) นักศึกษาการจัดการชั้นเรียนและแก้ปัญหาด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบสร้างแรงจูงใจและเทคนิคลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ (4) รูปแบบการเยี่ยมบ้านนักเรียนมีแบบทางการจัดปีการศึกษาละ 2 ครั้ง แยกตามภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 และแบบไม่เป็นทางการ (5) กิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนเกิดจากการประชุมเนื่องในโอกาสต่างๆ การออกเยี่ยมบ้านนักเรียน และกิจกรรมทางสังคม (6) การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ได้ใช้เทคนิคการสอนแบบไม่ต้องสอน

             ผลการสังเคราะห์สรุปผลการเรียนรู้การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา พบว่า ผลการเรียนรู้ของการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนักศึกษา เกิดจากงานทั้ง 6 ประเด็น ที่นักศึกษาได้ปฏิบัติและบันทึกการเรียนรู้นำมาสู่การสังเคราะห์วิเคราะห์หรือการจัดการองค์ความรู้เพื่อเสนอจุดเด่น แนวทางการพัฒนา และวิธีคิดที่ได้รับจากกระบวนการเรียนรู้

             ผลการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างรายงานการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษากับมาตรฐานวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 พบความสอดคล้อง 3 ประเด็นคือ (1) การปฏิบัติหน้าที่ความเป็นครูของนักศึกษา (2) การจัดการเรียนรู้ และ (3) ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน

             แนวทางการพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษาในรายวิชาการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวมตามรูปแบบ 333 คือ  (1) รูปแบบ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางเตรียมการ แนวทางกระบวนการ และ แนวทางประเมินผล (2) รูปแบบ 3 บุคคล ได้แก่ ครูมืออาชีพ พี่เลี้ยง และ นักเรียน (3) รูปแบบ 3 มิติ ได้แก่ มิติการพัฒนาทางกาย มิติการพัฒนาทางจิต มิติการพัฒนาทางปัญญา

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-05-01