แนวทางการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร

Main Article Content

พัชรา เดชโฮม
ศุนิสา ทดลา

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับทักษะการคิดขั้นสูงของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร และ 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ในการศึกษาใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานวิธีโดยมีสี่ขั้นตอน ขั้นที่ 1 กำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย ขั้นที่ 2 ศึกษาทักษะการคิดขั้นสูงของผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่าง คือครูผู้สอน จำนวน 327 คน ได้จากโดยการสุ่มอย่างง่าย (Sample Random Sampling) เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ขั้นที่ 3 การสนทนากลุ่ม  โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นที่ 4 นำผลจากสามขั้นตอนดังกล่าว มาร่างข้อเสนอแนวทางการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ผลการวิจัยพบว่า


  1. สภาพปัจจุบันเกี่ยวกับทักษะการคิดขั้นสูงของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร พบว่า โดยภาพรวมและจำแนกรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านเรียงลำดับค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดแก้ปัญหา และทักษะการคิดสร้างสรรค์

  2. แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พบว่า มีแนวทางที่สำคัญ โดยพิจารณาจากประเด็นที่สำคัญแต่ละด้าน ดังนี้ 1) กระตุ้นให้ผู้บริหารเกิดการเรียนรู้ให้เกิดความอยากรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการมอบหมายงานที่มีความท้าทายความสามารถ 2) ฝึกให้ผู้บริหารต่อสู้ความล้มเหลวและความคับข้องใจ โดยการให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสถานการณ์ที่คลุมเครือ 3) ฝึกให้ผู้บริหารพิจารณาปัญหาในภาพรวมมากกว่าจะพิจารณาปัญหาย่อย ๆ โดยการให้รู้จักบูรณาการปัญหาและเข้าใจปัญหาเหล่านั้น และ 4) ควรเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้ค้นคว้าความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น โดยการจัดบรรยากาศภายในสถานศึกษาแบบเสรี ให้เกิดการสร้างหรือผลิตงานบางอย่างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา

  3. แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ พบว่า 1) สร้างความกระตือรือร้นหรือความอยากรู้อยากเห็น โดยการสร้างความท้าทายในการค้นหาสภาพความยากลำบากหรือสภาพปัญหา 2) ฝึกนิสัยที่ดีของการคิด โดยการจัดกิจกรรมจุดเน้น ด้วยการมีประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม เน้นที่เป้าหมาย และข้อมูลย้อนกลับ และ 3) จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภาวะความเป็นผู้นำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดทักษะในการสรุปปัญหาหรือข้อโต้แย้งจากข้อมูลอย่างสมเหตุสมผล

  4. แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการคิดแก้ปัญหา พบว่า 1) การปลูกฝังการแก้ปัญหาทั้งความรู้และทักษะชีวิต โดยการจัดการอบรมให้ความรู้และฝึกประสบการณ์ 2) ฝึกให้ได้ทำความเข้าใจกับปัญหา ฝึกการมองปัญหาโดยใช้ทั้งความรู้สึก และมุ่งแก้ปัญหา โดยการใช้กิจกรรมในสถานการณ์จริงสอดแทรกในกระบวนการบริหาร และ 3) การลงมือปฏิบัติ โดยการนำแผนที่วางไว้ไปปฏิบัติจริง และมีการกำกับตนเองในการแก้ปัญหา

          ซึ่งมีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ เป็นประโยชน์ และถูกต้องครอบคลุม สอดคล้องกับทฤษฎี หลักการ และแนวคิดตามกรอบการวิจัย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ชุติระ ระบอบ และคณะ. (2552). ระเบียบวิธีวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ทิศนา แขมมณี. (2544). วิทยาจัดการด้านความคิด. กรุงเทพฯ : เดอะมาสเตอร์กรุ๊ปเมเนจเมนท์.
ธานินทร์ ศิลป์จารู. (2557). การวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย SPSS และ AMOS. (พิมพ์ครั้งที่ 15). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนสามัญบิสซิเนสอาร์แอนด์ดี.
ธานี ชั้นบุญ. (2551). ทักษะการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาประทุมธานี เขต 2. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, กรุงเทพฯ.
ปิยดา ปัญญาศรี. (2545). การเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างนักเรียนที่มีแบบการเรียน การอบรมเลี้ยงดู และระดับเชาว์ปัญญา แตกต่างกัน. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.
ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2558). ปฏิรูปการเรียนรู้ : ปฏิรูปการศึกษากลับทางจากล่างขึ้นบน. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.เอ.ลิฟวิ่ง จำกัด.
ไพศาล วรคำ. (2556). การวิจัยทางการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กาฬสินธุ์: ประสานการพิมพ์.
มนตรี วงษ์สะพาน. (2556). การยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์. วารสารศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ. 13(2). 125-139.
วิทยากร เชียงกูล. 2551. จิตวิทยา ความฉลาด และความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพ ฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
สำเร็จ วงศ์ศักดา. (2553). รูปแบบการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อ ส่งผลต่อความสำเร็จในการบริหารการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา. (วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กรุงเทพฯ.
สุคนธ์ สินธุพานนท์ และคณะ (2552). การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์
สุภรัชด์ คลายมนต์. (2553). การพัฒนาความเข้าใจและความสามารถในการสอนวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการคิดขั้นสูงของครูก่อนประจำการ. (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
Lawson, A. E. (2002). “At What Levels of Education is the Teaching of Thinking Effective?.” Theory into practice. 32 (3): 170-178.
Zohar, A. and N. Schwartzer. (2005). “Assessing Teachers’ Pedagogical Knowledge in the Context of Teaching Higher-order Thinking.” International Journal of Science Education. 27 (13): 1595-1620.