คำแนะนำสำหรับผู้ประเมินบทความ
คำชี้แจงแก่ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
1. กองบรรณาธิการวารสารฯ ขอกราบขอบพระคุณท่าน ที่ได้กรุณารับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความของวารสารนี้ โดยการประเมินบทความจะเป็นแบบ Anonymous Reviewer / Anonymous Author
2. ขอความกรุณาผู้ประเมิน ส่งผลการประเมินกลับภายในระยะเวลาที่วารสารฯ กำหนด
3. ท่านสามารถ ประเมิน และ ให้คำแนะนำ ได้ในรูปแบบ Word หรือ PDF และ กรุณาอัพโหลดคำแนะนำของท่าน เข้ามาในระบบ ThaiJO
4. สำหรับผู้ประเมินบทความภายนอกสถาบัน เมื่อท่านตอบรับเป็นผู้ประเมินบทความ และ ส่งผลการประเมินบทความเป็นที่เรียบร้อย วารสารฯ จะส่งหนังสือเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความฯ ไปยังอีเมลของท่าน
5. หากท่านประสบปัญหา หรือ มีคำถามเพิ่มเติมใด ๆ กรุณาติดต่อ กองบรรณาธิการได้ที่อีเมล issj.mahidol@gmail.com หรือ โทร 02 800 2841 ต่อ 1219 (คุณศศิธร)
บทบาทและความรับผิดชอบของผู้ประเมินบทความ
วารสารแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินบทความอย่างน้อย 3 ท่าน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้น ผู้ประเมินบทความมีหน้าที่ช่วยเหลือบรรณาธิการในการตัดสินว่าควรตีพิมพ์บทความหรือไม่ และในขณะเดียวกัน มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้นิพนธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพบทความ ผู้ประเมินบทความควรถอนตัวจากการพิจารณาบทความถ้าพบว่าตนเองไม่อาจประเมินบทความได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความรับผิดชอบของผู้ประเมินบทความต่อการประเมินบทความมีดังนี้
1) การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้ประเมินบทความต้องไม่รับพิจารณาบทความที่ตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น จากคนในครอบครัว เพื่อนสนิท เป็นบทความที่ตนเองมีส่วนร่วม หรือเป็นคู่แข่ง หรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้นิพนธ์ บริษัท หรือหน่วยงานซึ่งเล็งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการประเมินบทความอย่างสำคัญ หากผู้ประเมินพบว่า ตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบทความ ต้องแจ้งแก่กองบรรณาธิการ และ ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ประเมินบทความ
2) การประเมินบทความตามกำหนดเวลา: ผู้ประเมินบทความที่รับพิจารณาบทความควรส่งผลการประเมินภายในเวลาที่กำหนดผู้ประเมินบทความที่ทราบว่า ตนเองไม่สามารถประเมินบทความได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ควรแจ้งบรรณาธิการโดยทันที
3) การถือว่าบทความเป็นความลับ: บทความที่ผู้ประเมินบทความรับประเมินควรถือเป็นเอกสารลับ ข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่ผู้ประเมินบทความได้รับทราบในกระบวนการตรวจสอบบทความนั้น ควรต้องถือเป็นความลับและต้องไม่ใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้ประเมินบทความไม่ควรแสดงบทความหรืออภิปรายพูดคุยเกี่ยวบทความที่ได้ประเมินกับผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากบรรณาธิการ
4) ความปราศจากอคติในการประเมินบทความ: ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความด้วยความเป็นธรรมและปราศจากอคติ การวิพากษ์วิจารณ์โดยความชอบ/ไม่ชอบส่วนตัว ถือว่าไม่เหมาะสม ผู้ประเมินบทความควรแสดงความเห็นของตนอย่างชัดเจน โดยอธิบายและให้เหตุผลว่าทำไมตนจึงเห็นเช่นนั้น คำแนะนำของผู้ประเมินบทความควรละเอียดและสร้างสรรค์เพื่อช่วยให้ผู้นิพนธ์บทความสามารถพัฒนาบทความของตนต่อไปได้แม้ว่าบทความนั้นจะมีคุณภาพไม่ดีและถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ก็ตาม
5) การแจ้งถึงการลอกเลียนผลงานและการตีพิมพ์ซ้ำ: ผู้ประเมินบทความควรระบุในความเห็นถึงงานในอดีตซึ่งบทความไม่ได้กล่าวถึง ข้อความที่กล่าวถึงงานในอดีตควรบอกถึงแหล่งที่มาด้วย (เช่น ชื่อวารสาร) ผู้ประเมินควรแจ้งต่อบรรณาธิการหากทราบว่า บทความที่พิจารณามีส่วนใดส่วนหนึ่งที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับบทความที่อยู่ในการพิจารณาของวารสารอื่นหรืองานตีพิมพ์ในอดีต