วารสารสังคมศาสตร์บูรณาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความในทุกขั้นตอน และถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในการดำเนินการให้เป็นไปตามจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร (Publication Ehtics) วารสารฯ ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของ Committee on Publication Ethics (COPE) และ มาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ ที่กำหนดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยกำหนดบทบาท หน้าที่ และมาตรฐานทางจริยธรรมของบุคคล 3 กลุ่ม ในกระบวนการจัดทำวารสาร ดังนี้ (1) ผู้นิพนธ์ (Author) (2) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และ (3) บรรณาธิการ (Editors) โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์บทความ


1.1) รายชื่อผู้นิพนธ์บทความ
: รายชื่อผู้นิพนธ์บทความที่ปรากฏในบทความควรเป็นนักวิจัย นักวิจัยร่วม ในกรณีที่เป็นบทความวิจัย หรือนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ในกรณีที่เป็นวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ ที่มีส่วนสำคัญในการคิดหัวข้อประเด็นการวิจัย ออกแบบงานวิจัย ดำเนินการ และวิเคราะห์ผลการวิจัยตามที่ปรากฏในบทความ โดยทุกคนควรมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและควรได้รับการระบุชื่อว่าเป็นผู้นิพนธ์โดยเรียงลำดับตามสัดส่วนของการมีส่วนร่วม ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในลักษณะอื่น ๆ ควรได้รับการกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ ผู้นิพนธ์บทความทุกท่านได้อ่านและยินยอมให้มีการส่งบทความ เผยแพร่บทความ และมีส่วนรับผิดชอบในผลงานที่ส่งมายังวารสาร

1.2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้นิพนธ์ทุกท่านต้องเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งอาจมีผลสำคัญหรือมีอิทธิพลต่อผลการวิจัยหรือการแปลผลการวิจัยดังที่ปรากฏอยู่ในบทความ แหล่งเงินทุนสนับสนุนการวิจัยหรือการจัดทำบทความจะต้องถูกกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ การปกปิดการมีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ อาจส่งผลให้ผลงานถูกปฏิเสธการรับพิจารณาตีพิมพ์ได้

1.3) การเป็นผลงานต้นฉบับ การลอกเลียนผลงาน และการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในหลายวารสารหรือหลายแหล่งพร้อมกัน: ผู้นิพนธ์จะต้องระบุรับรองในเอกสารนำส่งบทความว่า บทความที่ส่งมายังกองบรรณาธิการวารสารนั้นไม่เคยได้รับการเผยแพร่ในวารสารหรือนำเสนอในการประชุมวิชาการต่าง ๆ มาก่อน (เว้นแต่ว่ามีการเพิ่มเติมเนื้อหาอย่างสำคัญจนถือว่าเป็นงานที่ต่างจากงานที่นำเสนอ) และไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวารสารเล่มอื่น การส่งบทความเข้าสู่การพิจารณาของวารสารมากกว่า 1 ฉบับในเวลาเดียวกันถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม

เมื่อผู้นิพนธ์ส่งบทความมายังวารสารถือว่าเป็นการยืนยันของผู้นิพนธ์ต่อวารสารว่า เจ้าของบทความที่เป็นผลงานต้นฉบับคือผู้นิพนธ์ หรือคณะผู้นิพนธ์ ไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนผลงานของผู้อื่นหรือของตนเอง ส่วนแนวคิดและข้อความต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ของผู้นิพนธ์ แต่ได้ถูกระบุไว้ในบทความจะต้องได้รับการอ้างอิงเนื้อหาอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ และผู้นิพนธ์ต้องรับผิดชอบในการขออนุญาตใช้ภาพหรือขอลิขสิทธิ์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น

1.4) มาตรฐานการเขียนบทความ: บทความจะต้องนิพน์โดยมีรายละเอียดมากพอสมควรเพื่อทำให้ผู้อ่านสามารถใช้ประโยชน์ในการทำวิจัยต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระเบียบวิธีวิจัยในประเด็นที่สำคัญ การนำเสนอข้อมูลในรายงานจะต้องมีความถูกต้อง การดัดแปลงข้อมูลหรือการเจตนาจงใจแปลผลข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม

1.5) นโยบายการเข้าถึงข้อมูลและการเก็บรักษาข้อมูล: กองบรรณาธิการวารสารอาจขอให้ผู้นิพนธ์ส่งมอบข้อมูลดิบที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องหากมีข้อสงสัย เมื่อถูกร้องขอ ผู้นิพนธ์ควรเก็บข้อมูลของการวิจัยไว้หลังการวิจัยเสร็จสิ้นจนกว่าจะได้รับการตีพิมพ์บทความไปแล้วระยะหนึ่ง หรือ หากสามารถเปิดเผยข้อมูลดิบตามที่สาธารณะร้องขอได้ ก็ขอให้แจ้งไว้ในกิติกรรมประกาศ

1.6) การพบข้อผิดพลาดที่สำคัญในงานตีพิมพ์: หากผู้นิพนธ์พบความผิดพลาดที่มีความสำคัญในการวิจัยภายหลัง หรือพบความไม่ถูกต้องในงานที่ตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์มีหน้าที่แจ้งต่อกองบรรณาธิการวารสารและประสานงานกับบรรณาธิการเพื่อให้ปรับแก้บทความให้มีความถูกต้องหรือถอนบทความหากจำเป็น

 

2. ความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ


2.1)
การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้ประเมินบทความต้องไม่รับพิจารณาบทความที่ตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น จากคนในครอบครัว เพื่อนสนิท เป็นบทความที่ตนเองมีส่วนร่วม หรือเป็นคู่แข่ง หรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้นิพนธ์ บริษัท หรือหน่วยงานซึ่งเล็งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการประเมินบทความอย่างสำคัญ หากผู้ประเมินพบว่า ตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบทความ ต้องแจ้งแก่กองบรรณาธิการ และ ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ประเมินบทความ

2.2) การประเมินบทความตามกำหนดเวลา: ผู้ประเมินบทความที่รับพิจารณาบทความควรส่งผลการประเมินภายในเวลาที่กำหนดผู้ประเมินบทความที่ทราบว่า ตนเองไม่สามารถประเมินบทความได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ควรแจ้งบรรณาธิการโดยทันที

2.3) การถือว่าบทความเป็นความลับ: บทความที่ผู้ประเมินบทความรับประเมินควรถือเป็นเอกสารลับ ข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่ผู้ประเมินบทความได้รับทราบในกระบวนการตรวจสอบบทความนั้น ควรต้องถือเป็นความลับและต้องไม่ใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้ประเมินบทความไม่ควรแสดงบทความหรืออภิปรายพูดคุยเกี่ยวบทความที่ได้ประเมินกับผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากบรรณาธิการ

2.4) ความปราศจากอคติในการประเมินบทความ: ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความด้วยความเป็นธรรมและปราศจากอคติ การวิพากษ์วิจารณ์โดยความชอบ/ไม่ชอบส่วนตัว ถือว่าไม่เหมาะสม ผู้ประเมินบทความควรแสดงความเห็นของตนอย่างชัดเจน โดยอธิบายและให้เหตุผลว่าทำไมตนจึงเห็นเช่นนั้น คำแนะนำของผู้ประเมินบทความควรละเอียดและสร้างสรรค์เพื่อช่วยให้ผู้นิพนธ์บทความสามารถพัฒนาบทความของตนต่อไปได้แม้ว่าบทความนั้นจะมีคุณภาพไม่ดีและถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ก็ตาม

2.5) การแจ้งถึงการลอกเลียนผลงานและการตีพิมพ์ซ้ำ: ผู้ประเมินบทความควรระบุในความเห็นถึงงานในอดีตซึ่งบทความไม่ได้กล่าวถึง ข้อความที่กล่าวถึงงานในอดีตควรบอกถึงแหล่งที่มาด้วย (เช่น ชื่อวารสาร) ผู้ประเมินควรแจ้งต่อบรรณาธิการหากทราบว่า บทความที่พิจารณามีส่วนใดส่วนหนึ่งที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับบทความที่อยู่ในการพิจารณาของวารสารอื่นหรืองานตีพิมพ์ในอดีต

 

3. ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ


3.1) ความยุติธรรมในการประเมินบทความ
: บรรณาธิการจะประเมินบทความในส่วนที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการโดยไม่มีอคติในเรื่องคุณลักษณะใด ๆ ของผู้นิพนธ์หรือองค์กร

3.2) ความลับของบทความ: บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบทความที่ส่งมายังวารสารกับผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากผู้ประสานงานบทความ ผู้ประเมินบทความ หรือผู้ที่อาจเป็นผู้ประเมินบทความ นอกจากนี้บรรณาธิการจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้กระบวนการพิจารณาบทความเป็นไปอย่างปกปิดแบบ 2 ด้านและเป็นธรรม โดยไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ประเมินบทความกับผู้ใด (ยกเว้นเมื่อถูกร้องขอโดยเหตุผลอันจำเป็นสมควร และเล็งเห็นแล้วว่าจะไม่เกิดผลกระทบเชิงลบใด ๆ ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย)

3.3) การพบเห็นการกระทำผิดจริยธรรม: บรรณาธิการจะดำเนินการอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง หากพบว่ามีการกระทำผิดจริยธรรมทางวิชาการ ไม่ว่าบทความนั้นจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ก็ตาม เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทางจริยธรรมนั้น ทั้งนี้การปฏิเสธบทความด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรมจะต้องมีหลักฐานหรือเอกสารบ่งชี้ที่ชัดเจน

3.4) การเปิดเผยข้อมูลและผลประโยชน์ทับซ้อน: บรรณาธิการจะต้องเปิดเผยหากพบกรณีประโยชน์ทับซ้อนกับบทความหรือผู้นิพนธ์ บรรณาธิการต้องพยายามป้องกันไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ และบุคคลในกองบรรณาธิการ เอกสารต่าง ๆ ที่ถูกส่งมาเพื่อตีพิมพ์ยังกองบรรณาธิการวารสารจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการวิจัยและอื่น ๆ ของบรรณาธิการโดยปราศจากความยินยอมของผู้นิพนธ์

3.5) ความผิดพลาดที่พบในบทความที่ตีพิมพ์: เมื่อผู้นิพนธ์พบความผิดพลาดที่สำคัญหรือพบความไม่ถูกต้องในงานตีพิมพ์ของตนและได้แจ้งรายงานแก่บรรณาธิการ บรรณาธิการจะตีพิมพ์หน้าแก้ไขเพื่อปรับบทความให้มีความถูกต้อง หรือเพิกถอนบทความหากจำเป็น