บวชป่า : การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากร ป่าไม้ในชุมชนภาคเหนือผ่านพิธีกรรมบวชป่า

Main Article Content

สุธีร์พงษ์ ศรีวิราช
ปรารภ แก้วเศษ
ไพรัช ถิตย์ผาด

บทคัดย่อ

                 งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพัฒนาการของภูมิปัญญาพื้นบ้านบวชป่าในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในชุมชนภาคเหนือ 2) เพื่อศึกษาปัญหาการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านพิธีกรรมบวชป่าในการอนุรักษ์ป่าชุมชนภาคเหนือ 3) เพื่อค้นหาภูมิปัญญาพื้นบ้าน และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทำให้เกิดการสังเคราะห์การบวชป่าในชุมชนภาคเหนือ ทำการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดภาคเหนือคือ พะเยา แพร่ และน่าน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 ถึง กันยายน 2558 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสนทนากลุ่ม และการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากการสัมภาษณ์ การสังเกต การสนทนากลุ่ม และการประชุมเชิงปฏิบัติการ นำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบความถูกต้องด้วยวิธีการแบบสามเส้า แล้วทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ และนำเสนอผลการวิจัยในรูปแบบเชิงพรรณนา
                     ผลการศึกษาพบว่าผู้ริเริ่มการนำภูมิปัญญาการบวชป่ามาใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในภาคเหนือ เกิดจากแนวความคิดของพระภิกษุผู้ที่มีความรู้ และเป็นปราชญ์ท้องถิ่นชื่อพระโสภณพัฒโนดม รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา
เจ้าอาวาสวัดโพธาราม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ต่อจากนั้นแนวความคิดนี้ก็ได้แพร่กระจายออกไปยังท้องที่อื่น ๆ และมีผู้นำไปปฏิบัติจนทั่วภาคเหนือ และยังคงปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ภูมิปัญญาการบวชป่า เกิดจากการสังเคราะห์ และการผสมผสานระหว่าง พิธีกรรม ความเชื่อทางด้านพระพุทธศาสนา ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลึกลับเหนือธรรมชาติเช่น ผี เทวดา นางไม้ เจ้าป่า เจ้าเขา ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านจนประยุกต์และกลายเป็นเป็นพิธีกรรมบวชป่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาที่เป็นที่ยอมรับในชุมชน และประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้เป็นอย่างดี

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research paper)