วงมโหรีพื้นบ้านอีสานใต้ : กรณีศึกษาวงมโหรีวิบูรณ์ชัย ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง วงมโหรีพื้นบ้านอีสานใต้ : กรณีศึกษาวงมโหรีวิบูรณ์ชัย ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและคุณลักษณะทางดนตรี วงมโหรีวิบูรณ์ชัย ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ 2. เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่วงมโหรีวิบูรณ์ชัย ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและข้อมูลภาคสนาม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และการสนทนากลุ่ม ทำการศึกษากับบุคคลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวงมโหรีวิบูรณ์ชัย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย แล้วนำเสนอผลการวิจัยในเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลวิจัยพบว่า วงมโหรีวิบูรณ์ชัย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมีนายวิชัย ชูชี เป็นหัวหน้าวง เป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง
เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่สไล 1 เลา, ตรัวอี้ 1 คัน, ตรัวกะนาร์ 1 คัน, ตรัวอู้ 1 คัน, สก็วล 1คู่, สก็วลระอัยร์ 1ใบ, ฉิ่ง1คู่, ฉาบ 1คู่ และ กรับ 1 คู่ นักดนตรีจะใช้ปี่สไลเป็นหลักในการตั้งเสียง
โดยตรัวอี้ กับ ตรัวกะนาร์ จะตั้งเสียง คู่ 5 ส่วนตรัวอู้ ตั้งเสียง คู่ 4 บทเพลงเป็นเพลงทำนองสั้นๆวนซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งการจัดวางตำแหน่งเครื่องดนตรีไม่มีข้อบังคับหรือข้อจำกัดตายตัวอยู่ที่สภาพพื้นที่และความเหมาะสม ส่วนใหญ่นักดนตรีมีอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ทำงานหน่วยงานราชการเป็นหลัก และบางส่วนก็กำลังศึกษา โดยการเล่นวงมโหรีวิบูรณ์ชัยถือเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว ซึ่งการรับงานเป็นหน้าที่ของหัวหน้าวงเพื่อประสานรายละเอียดต่างๆ ค่าจ้างในแต่ละงานตกอยู่งานละ 4,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางกับจำนวนวันที่รับงาน ในสมัยก่อตั้งวงช่วงแรกจะมีการซ้อมกันหนึ่งวันก่อนออกงานเพื่อที่ได้เตรียมความพร้อมและเช็คอุปกรณ์ แต่ในระยะหลังๆนักดนตรีไม่สะดวกในการเดินทางจึงงดการซ้อม เนื่องจากเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติดังนั้นการดูแลรักษาจะเช็คทำความสะอาดและเก็บใส่กระเป๋าหรือหาผ้ามาห่อหุ้มเพื่อยืดอายุการใช้งาน
บทบาทหน้าที่ของวงมโหรีวิบูรณ์ชัย คือ ใช้สำหรับการบรรเลงประกอบในงานประเพณี และวันสำคัญในโอกาสต่างๆในรูปแบบงานมงคลและงานอวมงคล โดยเสียงดนตรีมีบทบาทเป็นสื่อกลางในการสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึก ค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติ ซึ่งเป็นการสร้างกิจกรรมให้แก่คนในสังคม นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์วงมโหรีพื้นบ้านอีสานใต้ให้คงอยู่สืบไป
Article Details
- ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำเว้นเสียแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยฯ เป็นลายลักษณ์อักษร
- เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาด อันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์
References
ปิยะพันธ์ แสนทวีสุข. (2549). ดนตรีพื้นบ้านอีสาน : คีตกวีอีสาน ตำนานเครื่องดนตรี
และการเรียนรู้ ดนตรีพื้นบ้านอีสาน. มหาสารคาม : อภิชาตการพิมพ์.
ทวี ถาวโร และ พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2539). ทำเนียบศิลปินพื้นบ้านมโหรีอีสาน. มหาสารคาม :
สถาบันวิจัยคิลปะและวัฒนธรรมอีสาน.
นิยพรรณ วรรณศิริ. (2540). มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปัญญา รุ่งเรือง. (2546). หลักวิชามานุษยดุริยางควิทยา. กรุงเทพฯ : ภาควิชานิเทศ
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.