การศึกษาสัญลักษณ์อัษฏมังคละของพุทธศาสนาแบบทิเบตผ่านการตีความในทรรศนะของพุทธศาสนาเถรวาท
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยเรื่อง การศึกษาสัญลักษณ์อัษฏมังคละของพุทธศาสนาแบบทิเบตผ่านการตีความในทรรศนะของพุทธศาสนาเถรวาท มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ ๑) เพื่อศึกษาสัญลักษณ์อัษฏมังคละของพุทธศาสนาแบบทิเบต ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาเถรวาทที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์อัษฏมังคละของพุทธศาสนาแบบทิเบต ๓) เพื่อวิเคราะห์ตีความสัญลักษณ์อัษฏมังคละของพุทธศาสนาแบบทิเบตผ่านทรรศนะของพุทธศาสนาเถรวาท การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอการวิจัยเป็นลักษณะการตีความในลักษณะพรรณนาเชิงวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า สัญลักษณ์อัษฏมังคละของพุทธศาสนาแบบทิเบต (ยกเว้นเงื่อนไม่สิ้นสุด) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวอินเดียสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจึงทรงนำเอาคุณสมบัติของสัญลักษณ์เหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการสอนหลักธรรมในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น เมื่อผู้วิจัยนำหลักเทสนาหาระมาใช้เป็นกรอบการตีความสัญลักษณ์อัษฏมังคละทั้งแปดประการ ฉัตร หมายถึง ผลของการปฏิบัติธรรมจะรักษาผู้ปฏิบัติ ธงแห่งชัยชนะ หมายถึง ปัญญาเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ หอยสังข์ขาวลายเวียนขวา หมายถึง การชักชวนให้ออกบวช และ โพธิปักขิยธรรมเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ เงื่อนไม่สิ้นสุด หมายถึง สภาวะแห่งความดับทุกข์ และ ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งสมบูรณ์แล้ว ปลาทองคู่ หมายถึง กามเป็นข่ายรัดตรึงสัตว์ อริยบุคคล และผู้ปฏิบัติในอริยมรรคและอริยผลเป็นผู้เดินบนทางแห่งความดับทุกข์ และ การรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ ดอกบัว หมายถึง เวไนยชนสามารถถูกสอนให้บรรลุธรรมได้ สภาวะแห่งความดับทุกข์ และโพชฌงค์ ๗ เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ แจกันสมบัติ หมายถึง สัตว์ทั้งหลายมีทุกข์คือความตาย การละเวทนาเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ การไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ และการเจริญในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ และ ธรรมจักร หมายถึง การประกาศความจริงอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าเป็นเหตุแห่งการเคลื่อนไปของพระพุทธศาสนา
Article Details
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนผู้แต่ง กองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป