อนาคตภาพมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๖)
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอนาคตภาพมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๖) มีการดำเนินการวิจัย ๔ ขั้นตอน คือ
๑) การศึกษาภาพปัจจุบัน เหตุการณ์ และแนวโน้มที่เกิดขึ้น ๒) การศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นกับภาพอนาคตภาพมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า ๓) การศึกษาภาพอนาคตทางเลือกของอนาคตภาพมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า และ ๔) การนำเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานตามพันธกิจที่ นำไปสู่ภาพอนาคตทางเลือกของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในอดีตจวบจนปัจจุบัน ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า นิสิตปัจจุบัน และผู้ใช้บัณฑิต จำนวน ๒๒ รูป/คน ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการด้านการศึกษา จำนวน ๓ รูป/ท่าน ผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีพันธกิจ ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านการผลิตบัณฑิต ๒) ด้านการวิจัยและพัฒนา ๓) ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม และ๔) ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เหตุการณ์และแนวโน้มที่สำคัญที่สุดที่อาจส่งผลการดำเนินงาน มีจำนวน ๕ เหตุการณ์และแนวโน้ม เหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดเหตุการณ์อื่น ๆ ติดตามมาในระดับที่ ๑ จำนวน ๑๘ เหตุการณ์ และผลกระทบระดับที่ ๒ จำนวน ๕๕ เหตุการณ์ เมื่อนำมาวิเคราะห์ความสอดคล้องคงเหลือ ๒๘ เหตุการณ์ และเมื่อวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของเหตุการณ์ ปรากฏว่า ภาพอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ มีจำนวน ๕ ภาพ เมื่อนำภาพที่มีโอกาสในการเกิดสูงและระดับของผลกระทบปานกลางมาสร้างภาพอนาคตเชิงตรรกะโดยอาศัยปัจจัยภายนอกที่มีแรงขับสูงคือ การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้ได้ภาพอนาคตทางเลือกของภาพมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๖) มีจำนวน ๔ ภาพ ภาพอนาคตทางเลือกที่ควรเร่งรัดให้เกิด คือ ภาพอนาคตที่ ๒ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอยู่ในระดับมาก และมีความสามารถในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสูง ข้อเสนอเชิงนโยบายมี ๓ ประการ คือ ๑) การเร่งสร้างผลผลิตและบริการวิชาการแก่สังคมที่นำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาความสามารถในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากนัก ๒) การขยายการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อป้องกันการมีเทคโนโลยีสนับสนุนการจัดการศึกษาน้อย และสามารถขยายขอบเขตการจัดการศึกษาและการบริการวิชาการแก่สังคมให้ กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และ ๓) การขยายการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาขั้นสูง เพื่อขยายขอบเขตการบริการการศึกษาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีมาก
Article Details
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนผู้แต่ง กองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป