ผลของการใช้คู่มือดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้นต่อความรู้และพฤติกรรมการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคู่มือการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และศึกษาผลของการใช้คู่มือฯ ต่อความรู้และพฤติกรรมการดูแลผู้สูงอายุของสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ ระยะแรกเป็นการพัฒนาคู่มือฯ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคคลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชน ความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้ค่าเท่ากับ 0.87 และประเมินค่าความเหมาะสมของคู่มือฯ อยู่ในระดับมากที่สุด ระยะที่สองเป็นการศึกษาผลของการใช้คู่มือฯ ต่อความรู้และพฤติกรรมการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลฯ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ต. เชิงดอย อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 45 คน คัดเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง 2) แบบทดสอบความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ มีค่าดัชนีความสอดคล้องมากกว่า 0.70 มีค่าความเชื่อมั่นด้วยการทดสอบความเที่ยงด้วยสูตรคูเดอร์-ริชาร์ดสัน เท่ากับ 0.74 และ 3) แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลผู้สูงอายุ มีค่าดัชนีความสอดคล้องมากกว่า 0.70 ค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ 0.87 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้และคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลผู้สูงอายุ หลังการใช้คู่มือฯ สูงกว่าก่อนการใช้คู่มือวิเคราะห์ด้วยสถิติ dependent t-test และสูงกว่ากลุ่มควบคุมวิเคราะห์ด้วยสถิติ independent t-test อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับน้อยกว่า 0.01 การศึกษาครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ร่วมกันวางแผนในการพัฒนาคู่มือฯ นั้น ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมาจากความต้องการที่แท้จริงและอยู่บนพื้นฐานบริบทวิถีชีวิตของประชาชน นำไปสู่การพัฒนาเป็นคู่มือฯ ที่มีเนื้อหาเหมาะสม ครอบคลุมประเด็นที่ผู้ใช้และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการ สามารถทำให้ความรู้และพฤติกรรมในการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น
Article Details
กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการตรวจและแก้ไขบทความที่เสนอเพื่อตีพิมพ์ในวารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต เป็นวรรณกรรมของผู้เขียนโดยเฉพาะคณะผู้จัดทำไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย และไม่ใช่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยและคณะผู้จัดทำ / บรรณาธิการ