แนวทางการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2 ตามหลักอิทธิบาท 4

Main Article Content

กรองแก้ว บุญเผือก
พระธรรมวชิรธีรคุณ
พระมหาอุดร อุตฺตโร

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา ตามปัจจัยส่วนบุคคล 3) เพื่อหาแนวทางการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักอิทธิบาท 4 เป็นการวิจัยแบบผสมวิธี โดยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 361 ชุด หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นเปรียบเทียบการทดสอบสมมติฐาน ด้วยการทดสอบค่า t-test และการทดสอบค่า F-test โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 9 รูป/คน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) สภาพการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้านแล้ว พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการนิเทศการศึกษา อยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา ด้านการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับปานกลาง และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ 2) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา โดยจำแนกตามเพศ ระดับการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่มีระดับการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 ส่วนเพศ พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่มีเพศต่างกัน ด้านการนิเทศการศึกษา มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) แนวทางการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักอิทธิบาท 4 มีแนวทางดังนี้ (1) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ กำกับ ติดตามผลการพัฒนา และการนำผลการประเมินการใช้หลักสูตรสถานศึกษาไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เอาใจใส่ มุ่งมั่นและร่วมกันพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ (2) การจัดการเรียนการสอน ผู้บริหารสถานศึกษาควรจัด PLC อย่างต่อเนื่องจะช่วยเสริมสร้างทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของครู สร้างแรงบันดาลใจให้กับครูในการสอนอย่างมีความสุขและมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (3) การนิเทศการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาต้องวางแผนเตรียมความพร้อมด้านการนิเทศการศึกษาในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วมการนิเทศภายในสถานศึกษาร่วมกับคณะครู ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ สร้างความเชื่อมั่น เสริมขวัญและกำลังใจให้แก่ครูในการพัฒนางานต่อไป (4) สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ในเรื่องสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยี คอยช่วยเหลือ สนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเหมาะสม สร้างความรักและความพึงพอใจ มีความเอาใจใส่ มุ่งมั่น และรับผิดชอบด้วยความขยันหมั่นเพียร คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่เกิดกับผู้เรียน ครูและสถานศึกษา (5) การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาควรวางแผนการจัดอบรมด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสำรวจความต้องการและความพึงพอใจของครูในเรื่องที่ครูสนใจและอยากพัฒนาตนเอง สร้างขวัญและกำลังใจ ความเอาใจใส่ คอยช่วยเหลือ สนับสนุนครู เมื่อครูพบปัญหาด้านการวิจัยเพื่อการศึกษา (6) การวัดผลประเมินผลการเรียน ผู้บริหารสถานศึกษาควรมีการกำหนดแนวทางการวัดผล และประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา ส่งเสริมการนำผลการนิเทศมาปรับปรุงการวัดผลประเมินผลการเรียนอย่างต่อเนื่อง กำหนดแนวทางในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาให้กับครู สร้างความพึงพอใจ เสริมสร้างความมุ่งมั่น ตั้งใจ โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลจัดระบบข้อมูลสารสนเทศให้ง่ายต่อการนำมาใช้

Article Details

How to Cite
บุญเผือก ก. ., พระธรรมวชิรธีรคุณ, & อุตฺตโร พ. . (2024). แนวทางการบริหารงานวิชาการในศตวรรษที่ 21 ของผู้บริหารสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2 ตามหลักอิทธิบาท 4 . วารสารครุศาสตร์ปริทรรศน์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 11(3), 505–519. สืบค้น จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/EDMCU/article/view/275448
บท
บทความวิจัย

References

ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2553). การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.

ยุพิน ขุนทอง. (2557). การบริหารงานวิชาการสู่ความเป็นเลิศตามหลักอิทธิบาท 4 ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์.

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2. (2566). รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565. แหล่งที่มา: https://www.phichit2.go.th/?p=16697 สืบค้นเมื่อ 24 เม.ย. 2566.

สุทัศน์ สังคะพันธ์. (2557). ทำไมต้องทักษะในศตวรรษที่ 21 ในบทความทักษะแห่งศตวรรษที่ 21. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.