ผลของกิจกรรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และสอนเด็กให้ปลอดภัยจากคนแปลกหน้าต่อพฤติกรรมในการเลี้ยงดูเด็กและพฤติกรรมเป็นมิตรแบบไม่เลือกปฏิบัติ: กรณีศึกษาสถานสงเคราะห์เด็ก

Main Article Content

ธัญจิรา ทิพพานนทกูล
แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมเป็นมิตรแบบไม่เลือกปฏิบัติ และพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของครูพี่เลี้ยง เปรียบเทียบผลก่อนและหลังให้กิจกรรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และสอนเด็กให้ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า การเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ ครูและครูผู้ช่วยที่ดูแลเด็กอายุ 3-4 ปี จำนวน 2 คน และเด็กอายุ 3-4 ปี จำนวน 9 คน จากบ้านทานตะวัน มูลนิธิเด็ก จังหวัดนครปฐม โดยประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 อบรมครูพี่เลี้ยง 2 วัน เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีให้เกิดความตระหนัก ให้ความรู้ และฝึกทักษะการสร้างความผูกพันและปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ส่วนที่ 2 ครูพี่เลี้ยงฝึกภาคปฏิบัติ โดยดูแลและทำกิจกรรมกับเด็ก ได้แก่ 1) ดูแลเด็กทุกๆวันบนพื้นฐานการสร้างความรักความผูกพันอย่างสม่ำเสมอ โดยการแสดงสัมผัสแห่งความรักต่อเด็กทางกาย การแสดงสัมผัสแห่งความรักต่อเด็กทางวาจา การสร้างบรรยากาศที่ทําให้รู้สึกอบอุ่นผ่อนคลาย และการไวต่อปฏิกิริยาของเด็กและตอบสนองอย่างเหมาะสม 2) ทำกิจกรรมสอนเด็กเรื่องคนแปลกหน้า 16 กิจกรรมโดยมีหลักการสอนที่สำคัญ ได้แก่ คนแปลกหน้าคือคนที่ไม่รู้จัก คนแปลกหน้ามีทั้งดีและไม่ดี ให้กฎกติกาเมื่อพบคนแปลกหน้า และสอนว่าคนแปลกหน้าคนไหนปลอดภัย โดยทำกิจกรรม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมเป็น 16 ครั้ง และ 3) ทำกิจกรรมเชื่อมโยงประสบการณ์ให้เด็ก ตลอดระยะเวลา 2 เดือน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของครูพี่เลี้ยง แบบสอบถามพฤติกรรมเป็นมิตรแบบไม่เลือกปฏิบัติ และใช้การสังเกต การสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิตินอนพาราเมตริกแบบการทดสอบวิลคอกซอน ซายน์ แรงค์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา


            ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลอง ครูพี่เลี้ยงมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กสูงกว่าก่อนทดลอง (M.D. =  7.15, SD = 3.49) และเด็กมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมเป็นมิตรแบบไม่เลือกปฏิบัติลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  
(X = 9.44, SD = 5.20, p < 0.05)


      งานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ ผู้ดูแลเด็กและเด็กในสถานสงเคราะห์ เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในการเลี้ยงดูเด็กบนพื้นฐานความรักความผูกพัน และสอนให้เด็กมีทักษะเรื่องความปลอดภัยจากคนแปลกหน้าต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)