ประเภทบทความต้นฉบับ
วารสาร EDKKUJ เปิดรับบทความผลงานทางวิชาการเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ด้วยกระบวนการมาตรฐานตามหลักวิชการที่มีความหลากหลายประเภท เพื่อสนับสนุนต่อกระบวนการสร้างพื้นที่องค์ความรู้ใหม่ทางด้านการศึกษาและส่งเสริมการสร้างชุมชนนักวิชาการให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้มีโอกาสเขียนเรียบเรียงบทความเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานทางด้านการศึกษาให้มากขึ้นด้วย โดยทางวารสารเปิดรับบทความต้นฉบับในประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. บทบรรณาธิการ (Editorial):
จำนวนคำ: ไม่เกิน 2,000 คำ
ลักษณะ: เนื้อหาผลงานการเขียนทางวิชาการประเภทนี้จะเป็นมุมมองหรือข้อคิดเห็นที่นำเสนอโดยบรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการหลัก บรรณาธิการรับเชิญในฉบับพิเศษ หรือนักวิชาการนักวิจัยรับเชิญที่ถูกเสนอเพื่อให้ได้รับการเผยแพร่โดยบรรณาธิการ เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเสนอหลักคิดที่มีคุณค่าเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันกับชุมชนนักวิจัย
2. บทวิเคราะห์ (Commentary):
จำนวนคำ: ไม่เกิน 3,000 คำ
ลักษณะ: เนื้อหาผลงานการเขียนทางวิชาการประเภทนี้จะเป็นการอภิปรายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อประเด็นทางการศึกษาหรือการจัดการเรียนการสอนที่ตนเองให้ความสนใจบนพื้นฐานข้อคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนเองที่เป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนมุมมองการคิด
3. บทความสื่อสาร (Communication):
จำนวนคำ: ไม่เกิน 3,000 คำ
ลักษณะ: เนื้อหาผลงานการเขียนทางวิชาการประเภทนี้จะเป็นการนำเสนอการอัพเดทข้อค้นพบที่เกิดขึ้นใหม่หรือการขยายประเด็นหัวข้อการศึกษาใหม่ ที่เป็นการต่อยอดจากบทความวิจัย บทความเทคนิค หรือบทความปริทัศน์ ที่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้าแล้ว โดยการเขียนบทความดังกล่าวนั้นควรเน้นการบรรยายความให้เห็นถึงการอัพเดทที่น่าให้ความสนใจ เป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และจุดริเริ่มความแปลกใหม่ที่แตกต่างออกไปจากประเด็นที่เคยทำหรือที่เคยมีที่ผ่านมา อย่างชัดเจน
4. บทความจดหมาย (Letter):
จำนวนคำ: ไม่เกิน 1,500 คำ
ลักษณะ: บทความจดหมายเป็นบทความแบบสั้นที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านที่ได้อ่านบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนี้ได้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นหรือแนวคิดโต้ตอบอย่างเป็นนักวิชาการมืออาชีพต่อบทความหนึ่งบทความใดของวารสารเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาความก้าวหน้าทางวงการวิชาการ (โดยจะต้องไม่เป็นการเขียนเชิงโต้แย้งที่จะก่อให้เกิดความไม่สร้างสรรค์อย่างหนึ่งอย่างใด) นอกจากนั้น ผู้เขียนของบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนี้ที่ถูกนำเสนอข้อคิดเห็นหรือแนวคิดโต้ตอบมานั้นก็สามารเขียนบทความจดหมายเพื่ออธิบายหรือแสดงทัศนะตอบกลับต่อผู้ที่เขียนบทความจดหมายต่อบทความของตนเองได้อีกด้วย
5. บทความปริทัศน์ (Review Article):
จำนวนคำ: อยู่ระหว่าง 6,000-10,000 คำ
ลักษณะ: เนื้อหาผลงานการเขียนทางวิชาการประเภทนี้จะเป็นการประเมินสถานภาพล่าสุดทางวิชาการเฉพาะทางที่มีการศึกษาค้นคว้า มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้งทางกว้างและทางลึกอย่างทันสมัยจากวรรณกรรมหรือผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วก่อนหน้าจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ทางวิชาการ โดยใจความสำคัญเป็นการให้ข้อวิพากษ์ที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ควรศึกษาและ/หรือทิศทางการยกระดับและพัฒนาต่อไปในอนาคต
6. บทความวิจัย (Research Article):
จำนวนคำ: อยู่ระหว่าง 6,000-10,000 คำ
ลักษณะ: เนื้อหาผลงานการเขียนทางวิชาการประเภทนี้จะเป็นการเขียนอย่างจำเพาะเจาะจงในลักษณะที่เป็นการรายงานผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานทางการศึกษา หรือการเรียนการสอนในสาระวิชาต่าง ๆ หรือกลุ่มคนกลุ่มต่าง ๆ หรือระดับการจัดการศึกษาต่าง ๆ หรือแขนงวิชาที่เชื่อมโยงกันได้กับงานการศึกษา
7. บทความเทคนิค (Technical Article):
จำนวนคำ: ไม่เกิน 5,000 คำ
ลักษณะ: เนื้อหาผลงานการเขียนทางวิชาการประเภทนี้ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
7.1) การเรียบเรียงเขียนเพื่อกล่าวถึงหรืออธิบายแนวคิดหรือวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาที่เป็นแนวใหม่หรือที่ไม่เคยมีมาก่อน การปฏิบัติงานการสอนเนื้อหาจำเพาะหนึ่งใดทั้งในบริบทในชั้นเรียนหรือนอกชั้นเรียน กลยุทธ์เชิงเทคนิคหรือวิธีการจัดการเรียนรู้ใหม่ที่เท่าทันยุคสมัย หรือผลลัพธ์จากโครงการที่ใช้นวัตกรรมทางการศึกษาหนึ่งใดหรือจากการออกแบบการสอนในรายวิชาจำเพาะหนึ่งใด
7.2) การเรียบเรียงเขียนเพื่อสาธิตให้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยมในการสอนหรือการเรียนรู้สำหรับเนื้อหาหรือแนวคิดจำเพาะหนึ่งใดที่เป็นไปตามกลวิธีการจัดการเรียนรู้หรือวิธีการสอนที่ร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน โดยเน้นที่จะนำเสนอให้ผู้อ่านสามารถสร้างภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทงานการสอนหรือการเรียนรู้นั้นตามได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
7.3) การเรียบเรียงเขียนเพื่อบรรยายประสบการณ์การเรียนรู้ของกิจกรรมการเรียนการสอนหนึ่งใดในบริบทการจัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมหาวิทยาลัย โดยอาจเป็นประสบการณ์ที่จัดกระทำให้เกิดขึ้นบริบทชั้นเรียน ห้องปฏิบัติการ หรือแบบไม่เป็นทางการนอกพื้นที่โรงเรียน ซึ่งเน้นว่าประสบการณ์การเรียนรู้นั้นต้องเคยถูกนำไปใช้กับผู้เรียนมาแล้วและควรต้องมีการรายงานเพื่อประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ดังกล่าวของผู้เรียนด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าต่อการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้
7.4) การเรียบเรียงเขียนเพื่อสาธิตและอธิบายสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัลทางวิชาการ เช่น เว็บไซต์ ซอฟแวร์เฉพาะทาง มัลติมีเดีย แอปพลิเคชัน หรือเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งเสริมงานทางด้านการศึกษา การปฏิบัติงานการสอน หรือกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเน้นว่าสื่อเทคโนโลยีนั้นต้องเคยถูกนำไปใช้กับผู้เรียนมาแล้วและควรต้องมีการรายงานเพื่อประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อเทคโนโลยีดังกล่าวของผู้เรียนด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงว่าเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณค่าต่อการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้