ภาพลักษณ์ของผู้หญิงกับบทบาทสิ่งรองรับความปรารถนาในวรรณกรรมโปรตุเกส: กรณีศึกษา Os Maias โดย Eça de Queiroz
บทคัดย่อ
ในแวดวงวรรณกรรม มีงานเขียนจำนวนมากของนักเขียนชายที่เขียนเกี่ยวกับ‘ผู้หญิง’ บทความนี้จึงมีจุดประสงค์ที่จะวิเคราะห์วิธีและสาเหตุของการนำเสนอภาพลักษณ์ของ‘ผู้หญิง’ ในวรรณกรรมโปรตุเกส ผ่านตัวละครหลักเพศหญิง Maria Eduarda da Maia จาก Os Maias โดยนักเขียนโปรตุเกส Eça de Queiroz โดยวิเคราะห์ลักษณะวิธีการสร้างตัวละคร และใช้ทฤษฎี‘สามเหลี่ยมแห่งความปรารถนา’ ของ René Girard ประกอบกับแนวคิดปรัชญาเกี่ยวกับความปรารถนาในการวิเคราะห์หาคำตอบ ซึ่งทำให้พบว่า Maria Eduarda เป็นตัวละครที่ไม่มีตัวตนด้วยตัวเองในเรื่อง และเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นจากความปรารถนาแบบ Don Juan ของ Carlos เธอทำหน้าที่เป็นเพียงสิ่งรองรับความปรารถนาของตัวละครชายในเรื่อง อันทำให้เธอถูกนำเสนอในรูปแบบของหญิงที่ไม่มีอยู่ และหญิงที่ถูกจินตนาการขึ้นให้เป็นหญิงสาวที่สมบูรณ์แบบ