การประเมินโครงการการฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพนักเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 กรณีศึกษาโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ โดยประยุกต์แนวคิดการประเมินแบบร่วมมือ

Main Article Content

วาราตรึ วนาภานุเบศ
สายฝน วิบูลรังสรรค์

บทคัดย่อ

การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการการฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 กรณีศึกษาโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ โดยประยุกต์ใช้การประเมินแบบร่วมมือ เป็นการประเมินที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินตั้งแต่เริ่มต้นจนสรุปผลโครงการ ขั้นตอนการประเมินที่นำประยุกต์มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การชี้แจงรายละเอียดการประเมินโครงการ 2) การออกแบบการประเมิน และ 3) การดำเนินการประเมินโครงการ แหล่งข้อมูลเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ได้แก่ เจ้าของโครงการ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้พาณิชยกรรม พี่เลี้ยงของสถานประกอบการ นักเรียน ผู้รับบริการ และผู้ปกครอง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม ประเด็นสนทนากลุ่ม แบบประเมิน และแบบทดสอบ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและนำเสนอโดยการสรุปความ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยประเด็นการประเมินยึดแนวคิดเชิงระบบมาจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์การประเมิน ผลการประเมินสรุป ดังนี้


1) ด้านความพร้อมปัจจัย พบว่า บุคลากรทุกฝ่ายและงบประมาณมีความพร้อมและเพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรม ด้านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่มีความเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ป้ายชื่อนักเรียนยังขาดในเรื่องของความคงทน และด้านเอกสารการฝึกยังไม่ครบถ้วนสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทีมประเมินได้ดำเนินการจัดทำเอกสารให้ครบถ้วนครอบคลุมตามยึดตามบทบาทหน้าที่ของผู้ใช้งาน ได้แก่ เอกสารสำหรับครูนิเทศก์ เอกสารสำหรับนักเรียน และเอกสารสำหรับพี่เลี้ยงของสถานประกอบการ


2) ด้านการดำเนินงาน พบว่า มีผลการประเมินดังนี้ (1) การคัดเลือกสถานประกอบการ พบว่า ได้สถานประกอบการที่ครบถ้วนตรงตามแผนการคัดเลือก และการจัดนักเรียนเข้าฝึกประสบการณ์มีความเหมาะสมตามเกณฑ์  (2) การปฐมนิเทศ พบว่า สถานที่และเนื้อหาการบรรยายมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตามส่วนของกิจกรรมการสาธิตที่จัดอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ นักเรียนต้องการให้จัดเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน (3) การนิเทศติดตาม พบว่า การนิเทศของครูนิเทศก์เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด การประสานงานกับพี่เลี้ยง ไม่พบปัญหา ได้รับความร่วมมือในการแจ้งความประพฤติของนักเรียน และการติดตามงานของพี่เลี้ยง พบปัญหาในการมอบหมายงานจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน และ (4) กิจกรรมปัจฉิมนิเทศแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พบว่า สถานที่ ลำดับขั้นตอน และการมีส่วนร่วมของนักเรียนมีความเหมาะสม แต่นักเรียนต้องการให้เพิ่มกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่าง ๆในการฝึกประสบการณ์


3) ด้านผลผลิต พบว่า ผลการประเมินนักเรียนในโครงการมีดังนี้ (1) นักเรียนมีความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกประสบการณ์ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ทุกคน (2) นักเรียนมีทักษะการทำงาน อยู่ในระดับดี (3) นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมอยู่ในระดับดี (4) นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริตอยู่ในระดับมากที่สุด และ (5) นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมปัจฉิมนิเทศแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทุกคน


4) ด้านผลลัพธ์ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังคงสนใจเลือกเรียนต่อหรือทำงานที่ตรงในสาขาเดิมหรืออยู่ในเส้นทางของสายอาชีพ และการฝึกประสบการณ์ไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ที่รับประกันว่าสถานประกอบการ จะรับนักเรียนเข้าทำงาน เนื่องจากนักเรียนบางคนยังมีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ประกอบกับระยะเวลาในการฝึกสั้นเกินไป


5) ด้านผลกระทบ พบว่า มีผลการประเมินดังนี้ (1) ผลกระทบทางบวก ด้านสถานประกอบการมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นจากการทำงานที่รวดเร็ว และด้านนักเรียนมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น พร้อมที่จะประกอบอาชีพจริงในอนาคต และ (2) ผลกระทบทางลบ พบว่า ผู้ปกครองบางรายมีความวิตกกังวลด้านความปลอดภัยในการเดินทางของบุตรหลาน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ทิพย์ฆัมพร เกษโกมล. (2545). การวิจัยและพัฒนาระบบการประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาพยาบาลตามแนวคิดการประเมินแบบร่วมมือรวมพลัง. ได้จาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/10546. [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562].

ประชุม รอดประเสริฐ. (2547). การบริหารโครงการ. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : เนติกุลการพิมพ์.

ประสาน จันทร์ดาสุด. (2561). การศึกษาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในจังหวักระยอง จันทบุรี และตราด. วิทยานิพนธ์ ค.ม. สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี, จันทบุรี.

รักชนก โสภาพิศ. (2553). การพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาหลักสูตรและวิธีการสอนบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ราตรี นันทสุคนธ์. (2547). การพัฒนารูปแบบการประเมินแบบร่วมมือสำหรับประเมินการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของสถาบันราชภัฎ. วิทยานิพนธ์ กศ.ด. สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก.

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา. (2556). หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2556. ได้จาก http://bsq2.vec.go.th/course/2556/2-05-56/7% 20พาณิชยกรรม.pdf [สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562].

สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ. (2551). แนวปฏิบัติการดำเนินการฝึกงาน. ได้จาก http://bsq.vec.go.th/document/ฝึกงาน%20_Dec.08_.pdf. [สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562].

อมรศักดิ์ สินเหลือ. (2558). การพัฒนาโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในจังหวัดมหาสารคาม. วิทยานิพน์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

Muhsin, M.O., David L.W., & Jeffrey J.M. (2012). Collaborative evaluation of a high school prevention curriculum: How methods of collaborative evaluation enhanced a randomized control trial to inform program improvement. Evaluation and program planning, 35(4), 529-534.

O'Sullivan, R.G. (2004). Practicing Evaluation: A Collaborative Approach. Thousand Oaks, CA: Sage Publications.