การพัฒนาชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหาร ด้านการกำกับตนเองของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น

Main Article Content

กาญจนา บุญประคม
จิระพร ชะโน

บทคัดย่อ

              การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อคัดกรองเด็กปฐมวัยที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น 2) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเองของเด็กที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น และ 3) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเอง ของเด็กที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 12 คน ปีการศึกษา 2560  โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม  จังหวัดมหาสารคาม  กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยใช้แบบคัดกรองประเมินพฤติกรรมเด็ก (สำหรับครู) (Conners’ Teacher Questionnaire) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์การคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเองของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3  2) แบบประเมินพฤติกรรมการกำกับตนเอง (สำหรับครู/ผู้วิจัย) 3) แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการกำกับตนเอง การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ การวิจัยระยะที่ 1 การคัดกรองเด็กปฐมวัยที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น การวิจัยระยะที่ 2 พัฒนาชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเอง การวิจัยระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเอง และสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน           


                   ผลการวิจัยปรากฏดังนี้


        1. ผลการคัดกรองเด็กปฐมวัยที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้นโดยครูจากการใช้แบบประเมินพฤติกรรม (สำหรับครู) (Conners’ Teacher Questionaire) พบว่า คะแนนเฉลี่ยของเด็กทั้งหมด 35 คน เท่ากับ 6 ไม่มีพฤติกรรมที่รบกวนชั้นเรียน เด็ก 13 คน ไม่มีพฤติกรรมรบกวนชั้นเรียน คิดเป็นร้อยละ 37.14 เด็ก 7 คน  มีพฤติกรรมรบกวนชั้นเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 20.00 เด็ก 4 คน มีพฤติกรรมรบกวนชั้นเรียนปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 11.43 เด็ก 1 คน มีพฤติกรรมรบกวนชั้นเรียนมาก คิดเป็นร้อยละ 2.85 จากผลการคัดกรองพฤติกรรมเด็กโดยครูจากการใช้แบบประเมินพฤติกรรม (สำหรับครู) (Conners’ Teacher Questionaire) พบว่า เด็ก 12 คน มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น


        2. ผลการพัฒนาชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเอง ของเด็กที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น ประกอบด้วยชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ 5 หน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยประกอบด้วย ชื่อกิจกรรม สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การประเมิน บันทึกผลหลังการสอน ประกอบด้วยผลการจัดกิจกรรม ปัญหาและอุปสรรค ข้อเสนอแนะ/แนวทางแก้ไข จากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ผลการประเมินชุดกิจกรรมและแบบประเมินการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเองของเด็กปฐมวัยมีระดับความเหมาะสมมาก


        3.ผลการศึกษาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเอง ของเด็กที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้น พบว่า คะแนนระหว่างจัดประสบการณ์มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 228.25 จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 76.08 และหลังการจัดประสบการณ์มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 11.65 จากคะแนนเต็ม 15 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 77.67 ดังนั้น การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงบริหารด้านการกำกับตนเองของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะเสี่ยงสมาธิสั้นจึงมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 76.08/77.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 75/75

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กุลยา ตันติผลาชีวะ. (2551). การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ: เบนร-เบส บุ๊ค.

จิระพร ชะโน. (2561). การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้การคิดเชิงบริหารเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางการเรียนของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะสมาธิสั้น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก. (2559). วุฒิภาวะ. [ออนไลน์] ได้จาก: https://www.dailynews.co.th/article [สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559].

ชาญวิทย์ พรนภดล. (2558). มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ. [ออนไลน์] ได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/psychiatrics/cap/article/ADHD%20articlePfchan.pdf [สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559].

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2547). การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย. [ออนไลน์] ได้จาก: https://wbscport.dusit.ac.th/artefact/file/download.php?file=178181&view=130722 [สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2559].

ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และคณะ. (2556). ความชุกของโรคสมาธิสั้นในประเทศไทย. วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย, 22(2), 66-75

ภัทราภรณ์ สังข์ทอง. (2550). พัฒนาการของการเรียนรู้โดยการกำกับตนเองของนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 ที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองต่างกัน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 1. (ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ).

สาลินี จงใจสุรธรรม, นำชัย ศุภฤกษ์ชัยสกุล และวินัย ดำสุวรรณ. (2558). กลวิธีการกำกับตนเองในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. วารสารพฤติกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนา, 7(1), 15-26.

สิรินทร์ ลัดดากลม บุญเชิดชู และ พาสนา จุลรัตน์. (2557). ผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ SSAPA ที่มีต่อการกำกับตนเองของเด็กปฐมวัย. วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์วิจัย, 6(2), 244-258.

Sinha, P., Sagar, R. and Mehta, M. (2008). Executive Function in Attention Deficit/Hyperactivity Disorder. Journal of Indian Association for Child and Adolescent Mental Health, 4(2), 44-49.

Workman, S.L. (2002). Expressive arts therapy for a boy with ADHD, learning disabilities and divorce issues. Ursuline College.