เบื้องหลังและนโยบายการปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นยุคโลกาภิวัตน์

ผู้แต่ง

  • วรินทร วูวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น, การปฏิรูปการศึกษา, การแข่งขัน

บทคัดย่อ

ในอดีตญี่ปุ่นใช้นโยบายการพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจรซึ่งหมายถึงพนักงานไม่จำเป็นต้องมีความสามารถใดเป็นพิเศษ เพียงแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั่วๆ ไป และมีวินัยในตนเอง ระบบการศึกษาจึงผลิตแรงงานที่มีความพร้อมสำหรับการฝึกฝนหลังจากเข้าสู่ตลาดแรงงาน แรงงานเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการฝึกงานในบริษัท (OJT) เป็นการเข้าสู่ระบบการจ้างงานตลอดชีพเมื่อเกิดการแข่งขันที่รุนแรงในระดับนานาชาติ ญี่ปุ่นตระหนักว่า โครงสร้างธุรกิจแบบครบวงจรเริ่มไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตในระดับนานาชาติ ทำให้ญี่ปุ่นต้องตัดทอนธุรกิจการผลิตที่เสียเปรียบ หรือเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ บรรดาบริษัทเริ่มมีความพยายามที่จะยกเลิกระบบการจ้างงานตลอดชีพ โดยคงระบบนี้ไว้เฉพาะสำหรับพนักงานที่เป็นตัวจักรสำคัญส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ภาคธุรกิจได้เริ่มกลับมาคาดหวังจากมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง สาเหตุเป็นเพราะ

1. หมดยุคสมัยของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงในญี่ปุ่น

2. มีการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในระดับนานาชาติรุนแรงขึ้น

3. มีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระดับสูงอย่างรุนแรง

จึงเกิดแรงกดดันให้มีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ กล่าวคือจากเดิมที่สถานศึกษามุ่งให้ความรู้ทางวิชาการเพื่อเป็นพื้นฐานในการฝึกงานต่อในบริษัท ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการเรียกร้องให้ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถและทำประโยชน์ต่อธุรกิจได้ในทันที กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลสูงมากในการเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งพวกเขาต้องการให้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีความเป็นวิชาชีพ และมีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการผลิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจึงมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งต่อการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา เกิดเป็นแรงกดดันทำให้ระบบการศึกษาไม่อาจคงอยู่แบบเดิมได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-06