ระบบการจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนเอกชน ในกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

ศรีพิชา ชาตะศิริกุล
กล้า ทองขาว

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระบบการจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร (โรงเรียน) รวมถึงศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ กลุ่มตัวอย่าง คือ โรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานครจำนวน 189 โรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที และการวิเคราะห์เนื้อหา


ผลการวิจัย พบว่า โรงเรียนมีระบบการจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยด้านการสนับสนุนและส่งเสริมของผู้บริหารโรงเรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุด ส่วนด้านการส่งเสริมของชุมชนมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ผลการเปรียบเทียบ พบว่า โรงเรียนที่มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มีการได้รับรางวัลด้านวิชาการ และมีการได้รับรางวัลด้านการสื่อสารต่างกัน มีระบบการจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ปัญหาพบว่า ผู้บริหารยังไม่ได้ส่งครูเข้าอบรม การจัดจ้างครูเจ้าของภาษาไม่เพียงพอกับปริมาณนักเรียน และการจัดหาสื่อและเทคโนโลยีไม่เพียงพอ ผู้ปกครองไม่ได้จัดเสริมภาษาอังกฤษให้สัมพันธ์กับโรงเรียน และสนับสนุนให้ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการการเรียนรู้  แนวทางการพัฒนาคือ ผู้บริหารจัดสรรงบประมาณให้ครูเข้าอบรม จ้างครูเจ้าของภาษาและจัดหาสื่อเทคโนโลยีให้เพียงพอ ผู้ปกครองจัดเสริมภาษาอังกฤษที่บ้านและเปิดโอกาสให้ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างเป็นรูปธรรม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

จันทร์ฤทัย พานิชศุภผล. (2557). กลยุทธ์การบริหารโรงเรียนเอกชนเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางภาษาอังกฤษของนักเรียนประถมศึกษา, (วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2543). การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
พรรณศรี ปทุมสิริ. (2541). การพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้เทคนิคการสอนที่เน้นสื่อในชีวิตประจำวัน, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พระชานนท์ จักรใจ, สมศักดิ์ บุญสาธร, และวิชัย ดีพร้อม. (2554). การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านถ้ำ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3. วิทยานิพนธ์. เชียงราย: มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
พิณสุดา สิริธรังศรี (2555). การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน การศึกษาฐานรากทางเลือกประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.
พีรศักดิ์ หม่อนกันทา. (2553). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านแหลมโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฎสมเด็จเจ้าพระยา
วีรชาติ ชมพูหลง, สมชาย วงศ์เกษม, และสมบัติ ฤทธิเดช. (2554). การพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนในการจัดการศึกษา โรงเรียนบ้านสนาม อำเภอวาปีปทุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2 วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
อัจฉรา ยุทธมนตรี. (2554). การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ใน กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านการประเมินระดับดีมาก, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต) . กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.