The Development of the Operational Capacity of the Non-Food Herbal One Tambon One Product (OTOP) Groups

Main Article Content

พิมพ์พิสุทธิ์ อ้วนล้ำ
ชมพูนุท โมราชาติ
กัญญา จึงวิมุติพันธ์

บทคัดย่อ

                งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาศักยภาพการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค เงื่อนไขสู่ความสำเร็จของกลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคและเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานของกลุ่มโอทอป ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาศักยภาพการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค เงื่อนไขสู่ความสำเร็จของกลุ่มโอทอป ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร คัดเลือกโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงเป็นตัวแทนกลุ่มโอทอปที่ประสบความสำเร็จจากทั่วประเทศ จำนวน 33 คน และกรรมการกลุ่มโอทอปในจังหวัดอุบลราชธานีที่ประสบผลสำเร็จ จำนวน 8 คน ใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล และกรรมการกลุ่มโอทอปที่ไม่ประสบความสำเร็จ 1 กลุ่ม จำนวน 10 คน กลุ่มนี้ใช้การสนทนากลุ่มเป็นเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาความต้องการของผู้บริโภค มีจำนวน 151 คน คัดเลือกโดยการสุ่มแบบบังเอิญ ใช้สำรวจและการสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือ และใช้การวิเคราะห์เนื้อหาในการวิเคราะห์ข้อมูล และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินรูปแบบการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มโอทอปได้แก่ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน จำนวน 25 คน และตัวแทนกลุ่มเครือข่ายโอทอป จำนวน 5 คน รวม 30 คน คัดเลือกโดยวิธีการเจาะจง ใช้แบบประเมินเป็นเครื่องมือ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการทดลองใช้คู่มือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในรูปแบบการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มโอทอป ใช้สมาชิกกลุ่มโอทอปในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 40 คน เป็นกลุ่มเป้าหมาย การประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการพัฒนาศักยภาพตามรูปแบบมี 22 รุ่น จำนวน 2,026 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบค่าที


               ผลการวิจัย พบว่า ศักยภาพการดำเนินงานกลุ่มโอทอป ที่ควรได้รับการพัฒนามี 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านการบริหารการผลิต ด้านการบริหารการตลาด และด้านการบริหารการเงิน ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ กลุ่มโอทอปขาดองค์ความรู้ในการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและพึ่งพิงหน่วยงานภาครัฐ เงื่อนไขสู่ความสำเร็จคือกลุ่มโอทอปมีความรู้การบริหารจัดการกลุ่ม การผลิตสินค้าโอทอปให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP – Good Manufacturing Practice) และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ความต้องการของผู้บริโภคที่ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มีองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านผู้ผลิตชุมชน ด้านกระบวนการผลิต ด้านความเชื่อ และด้านเทคโนโลยีในการผลิต และการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพโดยใช้คู่มือฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงาน ที่มีเนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 บทนำ และการขับเคลื่อนโครงการโอทอป ส่วนที่ 2 ความรู้เรื่องสมุนไพรและสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร มาตรฐานสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์โอทอปประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ส่วนที่ 3 การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มโอทอป 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านการบริหารการผลิต ด้านการบริหารการตลาด และด้านการบริหารการเงิน การประเมินศักยภาพของกลุ่มโอทอปที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพโดยใช้คู่มือการฝึกอบรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและผ่านการตรวจคุณภาพเครื่องมือและปรับปรุงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ศักยภาพด้านความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการอบรมของผู้เข้ารับการอบรมมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 โดยคะแนนด้านความรู้หลังการเข้ารับการฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการเข้ารับการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่เข้ารับการอบรมมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นดังจะเห็นได้จากการที่กลุ่มโอทอปที่เข้ารับการอบรมสามารถขอเอกสารรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) ได้ครบทุกกลุ่ม และลงทะเบียนเข้ารับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ประจำปี 2559 ครบทุกกลุ่ม สำหรับผลการประเมินคู่มือ พบว่า คู่มือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการฝึกอบรมมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการนำไปใช้ประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน และความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research paper)