การจัดการความรู้ภูมิปัญญาเห็ดพื้นบ้านของชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
เห็ดพื้นบ้านหรือเห็ดป่า เป็นสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่งในระบบนิเวศที่ชาวอุบลราชธานีได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านการเป็นอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องประดับ นับเป็นการจัดการความรู้ภูมิปัญญาด้านการบริโภคและการอนุรักษ์สืบทอดติดต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับพืชพันธุ์ท้องถิ่น วัฒนธรรมการกินผักป่า เห็ดป่า หน่อไม้ มัน ไม้ผล จนมีคำกล่าวที่ว่า “คนอีสานกินผักเป็นยา กินข้าวปลาเป็นอาหาร” แต่จากสภาพปัจจุบัน ชุดความรู้และภูมิปัญญาเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์และฟื้นฟู งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษารูปแบบการจัดการความรู้เพื่อการอนุรักษ์เห็ดพื้นบ้านและการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ภูมิปัญญาเห็ดพื้นบ้านของชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระหว่างปี 2553-2557
ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนบ้านโพธิ์ตก และชุมชนบ้านโนนเค็ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เกิดความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์และการจัดการความรู้ภูมิปัญญาเรื่องเห็ดพื้นบ้าน ซึ่งเคยเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ในอดีต ให้กลับคืนมาเป็นอาหารและยาสำหรับลูกหลานในปัจจุบันและในอนาคต ด้วยรูปแบบการจัดการความรู้คู่ชีวิต ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1) การสนทนาและค้นหาข้อมูล 2) การทดลองและเรียนรู้ 3) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4) การประเมินผลความรู้ 5) การจัดเก็บความรู้ และ6) การเผยแพร่ความรู้ นอกจากนั้นยังพบว่าชุมชนมีกระบวนการสร้างเครือข่ายภูมิปัญญาแบบอิงระบบ คนในชุมชนมีส่วนร่วม มีการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบ มีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ เป็นเครือข่ายแนวราบที่มีพลังในการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยเครือข่ายโพธิ์ตก เครือข่ายโนนเค็ง เครือข่ายแดงหม้อ เครือข่ายนาตาล และเครือข่ายหนองครก โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายวิชาการ อย่างไรก็ตามจากแนวทางการทำงานของเครือข่ายยังพบว่าความรู้ภูมิปัญญาเห็ดพื้นบ้านเป็นชุดความรู้ที่ดีมีประโยชน์ในการที่จะช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกต้นไม้และสร้างป่าอันจะนำไปสู่ความสมดุลในระบบนิเวศน์ อีกทั้งยังเป็นพืชบำนาญชีวิตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงวัยชราได้อย่างยั่งยืน
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว