ความต้องการของผู้สูงอายุสำหรับการสื่อสารสุขภาพกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อช่วยให้เกิดความสุข

Main Article Content

Nattanun Siricharoen

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อสำรวจถึงระดับของความสุขในชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นผู้ให้ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ 2) เพื่อสำรวจความสุขที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการ 3) เพื่อค้นหาองค์ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับความต้องการของผู้สูงอายุสำหรับการสื่อสารสุขภาพกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อช่วยให้เกิดความสุข กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ 1) ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 30 คน 2) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการสื่อสารสุขภาพกับผู้สูงอายุ นักวิชาการด้านพยาบาลศาสตร์ นักวิชาการด้านสื่อใหม่ สื่อดิจิทัลและสื่อมวลชน จำนวน 5 คน โดยใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญจากวิธีการต่างๆ คือ จากวิธีการคัดเลือกแบบ Purposive Selection และวิธีการคัดเลือกแบบ Snowball Selectionโดยใช้การแนะนำจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลกลุ่มนี้ไปยังผู้ให้ข้อมูลคนอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตนเองและสามารถให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามด้านคุณลักษณะประชากรที่ผู้วิจัยกำหนดข้อคำถามไว้และลงบันทึกคำตอบจากผู้ให้ข้อมูลด้วยตนเอง แบบมาตราส่วนของการวัดความสุขในชีวิตใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสร้างข้อสรุป ด้วยการวิเคราะห์แบบอุปนัย (Analytic Induction) การวิเคราะห์โดยการจำแนกชนิดข้อมูล (Typological Analysis) หลังจากนั้นจึงทำการ Reduce เพื่อหาความหมายและการมีความสัมพันธ์กันของข้อมูลจนกลายเป็นข้อสรุปของผลการวิจัย โดยพบว่าระดับความสุขของผู้สูงอายุจะมีทั้ง 2 ด้านที่เท่าๆ กัน คือ ทั้งมีความพึงพอใจและไม่พึงพอใจอย่างละใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การได้พูดคุยกับลูกหลานเป็นประจำ  โดยมีความต้องการทางด้านร่างกาย คือ อยากให้ตนเองแข็งแรงเพียงพอที่จะทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลานมากนัก มีความต้องการทางด้านจิตใจ คือ อยากให้ลูกหลานทักทายพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ อยากให้สอบถามสารทุกข์สุกดิบกับผู้สูงอายุเป็นประจำ มีความต้องการทางด้านสังคม – เศรษฐกิจ คือ อยากให้ลูกหลานช่วยพาไปร่วมกิจกรรม นอกบ้านบ้าง ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายพื้นฐานรายเดือนให้ด้วย โดยวิธีการสื่อสารสุขภาพกับผู้สูงอายุนั้น ขอให้ครอบคลุมความต้องการ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านร่างกายได้แก่ อาหาร ขับถ่าย การพักผ่อน การมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย การมีเสื้อผ้าที่เหมาะสม การรักษาพยาบาล 2) ด้านจิตใจ ได้แก่ ความรัก การเอาใจใส่ การยอมรับนับถือ การเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจและการให้อภัย 3) ด้านสังคม ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมพบปะเพื่อน การร่วมกิจกรรมทางศาสนา โดยเนื้อหาที่ควรสื่อสารไปยังผู้สูงอายุ คือ 1.เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเกิดขึ้น 2.ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ผู้สูงอายุมักจะเป็นกัน 3. ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรคที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงว่าจะเป็น 4.สอบถามถึงเรื่องสุขภาพเป็นประจำทั้งตอนพบหน้าหรือทางโทรศัพท์และ 5. ข้อมูลการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ  สิ่งเหล่านี้คือความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้มีความสุขในการใช้ชีวิตในแต่ละวันที่ลูกหลานไม่ควรละเลยที่จะปฏิบัติต่อผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research paper)