ตำนานเมืองของคนไทเลยกับปฏิบัติการทางสังคมว่าด้วยสำนึกทางชาติพันธุ์

Main Article Content

โศรยา ธัญญประกอบ
ปฐม หงษ์สุวรรณ

บทคัดย่อ

บทความฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตำนานเมืองของกลุ่มคนไทเลยกับปฏิบัติการทางสังคมว่าด้วยสำนึกทางชาติพันธุ์ของกลุ่มคนไทเลยที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านซ้าย เชียงคาน และวังสะพุง ข้อมูลที่ใช้ศึกษาวิเคราะห์ได้แก่ ข้อมูลคติชนประเภทตำนานเกี่ยวกับเมืองโบราณ รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีเจ้านายของกลุ่มคนไทเลย โดยมีทั้งข้อมูลเอกสารและข้อมูลภาคสนามโดยการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ในพื้นที่วิจัย ผลการศึกษาพบว่า สำนึกทางชาติพันธุ์เป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาตำนานเมืองของชาวไทเลยได้ ซึ่งสำนึกทางชาติพันธุ์นี้เป็นความรู้สึกในลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทเลยที่มีความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ยึดเหนี่ยวอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้เรื่องเล่าตำนานเมืองได้แสดงให้เห็นว่า ชุมชนเมืองโบราณของคนไทเลย มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อในเรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายของบรรพบุรุษ เรื่องเล่าตำนานเมืองโบราณยังคงถูกบอกเล่าในชุมชนคนไทเลยผ่านปฏิบัติการความเชื่อและพิธีกรรม อีกทั้งยังถูกใช้เป็นสิ่งสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นตำนานเมืองเซไล ตำนานเมืองเชียงคาน และตำนานเมืองปากเหืองที่สื่อสารให้เห็นถึงมิติการสร้างเครือข่ายชาติพันธุ์ ที่ถูกโยงใยความสัมพันธ์ทางสังคมในมิติประวัติศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีตำนานเจ้าเมืองและเจ้ามหาชีวิต (กษัตริย์) ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างสำนึกทางการเมืองชาติพันธุ์ให้เกิดแก่ความรู้สึกและจิตสำนึกของกลุ่มคนไทเลยเช่นกัน ทั้งตำนานเจ้าฟ้าร่มขาว ตำนานพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทเป็นเจ้าผู้ปกครองบ้านเมืองมาก่อน โดยเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มชนชั้นสูงในราชสำนักลาวหลวงพระบางในอดีต แต่ภายหลังได้อพยพเคลื่อนย้ายผู้คนที่เป็นบรรพบุรุษเข้ามาลงหลักปักฐานในดินแดนแถบนี้ แล้วสร้างบ้านเมืองจนกลายเป็นชุมชนของคนไทเลยในปัจจุบัน

Article Details

บท
บทความวิชาการ (Academic articles)