ขบวนการการค้าข้าวที่เป็นธรรม กับการเสริมสร้างอธิปไตยทางอาหารของชาวนารายย่อยในประเทศไทย กรณีศึกษา การเพิ่มอำนาจในการกำหนดราคาข้าว

Main Article Content

Sirinthip Narinsilp

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ขบวนการการค้าข้าวที่เป็นธรรมในประเทศไทย จะสามารถเสริมสร้างอธิปไตยทางอาหาร โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจในการกำหนดราคาข้าวให้แก่ชาวนารายย่อย ได้หรือไม่ อย่างไร วิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลทางเอกสาร การสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกผู้นำกลุ่มองค์กรผู้ผลิตข้าวที่เข้าร่วมในขบวนการการค้าข้าวที่เป็นธรรมจำนวน 6 กลุ่ม จากจำนวนทั้งหมด 8 กลุ่ม และการสัมภาษณ์ข้อมูลแบบกึ่งโครงสร้างกลุ่มตัวอย่างชาวนารายย่อยที่เข้าร่วมในขบวนการการค้าข้าวที่เป็นธรรมในประเทศไทย จำนวน 67 คน โดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง และแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาวิจัย คือ แนวคิดอธิปไตยทางอาหาร และหลักการในมาตราที่ 8 เรื่อง เสรีภาพในการกำหนดราคาและเสรีภาพทางการตลาดสำหรับการผลิตทางการเกษตร ของ Declaration of the Rights of Peasants-Women and Men


ผลการศึกษาพบว่า ขบวนการการค้าข้าวที่เป็นธรรมในประเทศไทยไม่ได้ช่วยเสริมสร้างอธิปไตยทางอาหาร โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจในการกำหนดราคาข้าวให้แก่ชาวนารายย่อย เพราะ อำนาจในการกำหนดราคาสินค้าในขบวนการการค้าที่เป็นธรรมยังคงอยู่ที่ Fairtrade Labelling Organizations International (FLO) และผู้ค้ามากกว่าที่จะอยู่ที่ชาวนารายย่อย โดยราคาขั้นต่ำแฟร์เทรดของข้าวยังคงถูกกำหนดโดย FLO และราคาขั้นต่ำแฟร์เทรดก็ยังไม่สามารถประกันได้ว่าเป็นราคาที่ครอบคลุมต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของชาวนารายย่อย เนื่องจาก เกณฑ์ในการคำนวณต้นทุนการผลิตของชาวนาของแต่ละคนแตกต่างกัน และ FLO เองก็ไม่เคยปรับเปลี่ยนราคาขั้นต่ำแฟร์เทรดไปตามต้นทุนผันแปรในแต่ละปี นอกจากนี้ ในกรณีที่ราคาตลาดข้าวมีราคาตกต่ำกว่าราคาขั้นต่ำแฟร์เทรดที่ FLO กำหนด ก็ดูเหมือนว่าอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าจะอยู่ที่ผู้ค้าเช่นเดิม และราคาข้าวในช่องทางการค้าที่เป็นธรรมก็อาจจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามราคาตลาด อย่างไรก็ตาม แม้ว่า FLO ได้กำหนดให้มีช่องทางสำหรับชาวนารายย่อยสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นและเจรจาต่อรองในเรื่องของราคาข้าวได้ผ่านการประชุมสมัชชาใหญ่ในแต่ละปีของกลุ่มองค์กรผู้ผลิตข้าว แต่ชาวนารายย่อยก็ยังคงไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองทางการค้า ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่ชาวนารายย่อยในประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นชาวนารายย่อยที่มีระดับการศึกษาไม่สูงมาก จึงไม่มีข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการค้าและตลาดในการต่อรองมากนัก ยิ่งไปกว่านั้น ชาวนารายย่อยเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิในการกำหนดและต่อรองราคาของตัวเองด้วย

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research paper)