โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยเรื่อง โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาองค์ประกอบของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา (๒) สร้างโมเดลสมมติฐานความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา (๓) ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยากับข้อมูลเชิงประจักษ์ ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสมวิธีโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณขยายผลวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและแบบสอบถาม กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยเชิงคุณภาพโดยเลือกแบบเจาะจง จำนวน ๓๒ รูป/คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงปริมาณเลือกตามทฤษฎีการใช้ความน่าจะเป็นโดยสุ่มตัวอย่างแบบง่ายได้ผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๗๗๐ คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติบรรยาย วิเคราะห์สหสัมพันธ์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ และวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างโดยใช้โปรแกรม LISREL ผลการวิจัย พบว่า (๑) องค์ประกอบของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา ประกอบด้วย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม ภาวนา ๔ การเห็นคุณค่าในตนเอง และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา (๒) โมเดลสมมติฐานความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยานั้น พบว่า โมเดลสมมติฐานประกอบด้วย ๕ ตัวแปรแฝง คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา โดยมีภาวนา ๔ การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน และตัวแปรสังเกตได้ ๒๐ ตัวแปร และ (๓) ผลการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรงและทางอ้อมระหว่างตัวแปรในโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยา พบว่า โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่สร้างขึ้นมีจำนวน ๒ โมเดล ได้แก่ โมเดลที่ ๑ โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยาที่มีภาวนา ๔ เป็นตัวส่งผ่าน มีค่าทางสถิติ คือ c2 = ๘๐.๐๕, df = ๖๑, p = ๐.๐๕๑, GFI = ๐.๙๙, AGFI = ๐.๙๗, RMSEA = ๐.๐๒๐ และ โมเดลที่ ๒ โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักพุทธจิตวิทยาที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นตัวส่งผ่าน มีค่าทางสถิติ คือ c2 = ๗๗.๙๐, df = ๖๓, p = .๐๙๘, GFI = .๙๙, AGFI = .๙๗, RMSEA = .๐๒๑ ทั้งสองโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์
Article Details
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนผู้แต่ง กองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป