ส่วนประสมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อของนักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

Main Article Content

อารยา ทองโชติ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบลักษณะปัจจัยส่วนบุคคลของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  และปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ  ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ของบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ปีการศึกษา ๒๕๖๐ จำนวน ๔๘๐ รูป/คน  กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๑๘ คน จากการคำนวณตามสูตรของทาโร ยามาเน่ (Taro Yamane, 1970)  ที่ระดับความเชื่อมั่น .๐๕ เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาด ตามแนวคิดของคอตเลอร์ (Kotler) บูมส์ และบิทเนอร์ (Boom &. Bitner, 1981)  และ นักการตลาดชื่อ Maringe (Maringe, 2005) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติทดสอบความสัมพันธ์แบบไคสแควร์


        ผลการวิจัยพบว่า ๑) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง  มีอายุเฉลี่ย ๔๐-๔๙ ปี  ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี  มีอาชีพเป็นข้าราชการ/รัฐวิสากิจ  และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไป  ๒) ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อของนักศึกษา โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านทั้ง ๗ ด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ ด้านบุคลากร  ด้านราคา ด้านสถานที่ ด้านกระบวนการให้บริการ ด้านลักษณะทางกายภาพ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านการส่งเสริมการตลาดตามลำดับ  สำหรับผลทดสอบสมมติฐานการวิจัย พบว่า ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้แก่ ระดับการศึกษา และรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนที่ต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญ .๐๕

Article Details

บท
บทความวิจัย