วารสารสภาวิชาชีพบัญชี ได้กำหนดจริยธรรมและบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เขียนบทความ (Authors) บรรณาธิการ (Editors) และ ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)

  1. 1. ผู้เขียนบทความต้องส่งบทความที่ไม่มีการคัดลอกผลงานทั้งส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดจากเนื้อหาบทความของผู้อื่น รวมถึงบทความที่ส่งจะต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น การละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรง
  2. 2. ผู้เขียนบทความยินดีแก้ไขปรับปรุงรูปแบบและคุณภาพของบทความ ให้ถูกต้องและเหมาะสมตามข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากกองบรรณาธิการฯ ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในขั้นตอนของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความไม่น้อยกว่า 2 ท่าน ในลำดับต่อไป
  3. 3. ผู้เขียนบทความต้องมีการอ้างอิงเอกสาร ผลงานทางวิชาการ ฯลฯ โดยระบุแหล่งที่มาของข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องไว้ในตอนท้ายของบทความเสมอ โดยจัดรูปแบบการอ้างอิงตามที่กองบรรณาธิการฯ ได้กำหนดไว้ อย่างเคร่งครัด
  4. 4. เนื้อหาและข้อมูลที่จะลงตีพิมพ์ในวารสารสภาวิชาชีพบัญชี ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งกองบรรณาธิการและสภาวิชาชีพบัญชีไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
  5. 5. ในกรณีที่บทความของผู้เขียนบทความได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ ผู้เขียนยินดีตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยของรูปแบบและเนื้อหาบทความ ซึ่งกองบรรณาธิการฯ จะจัดส่งให้ผู้เขียนพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรอบสุดท้าย ก่อนขั้นตอนของการเผยแพร่ทางเว็บไซต์วารสาร และการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มวารสารต่อไป
  6. 6. ผู้เขียนบทความต้องรับทราบและยอมรับถึงข้อกําหนด และนโยบายในการรับพิจารณาตีพิมพ์บทความจากวารสารสภาวิชาชีพบัญชี เป็นอย่างดีแล้ว
  7. 7. ผู้เขียนบทความพึงทราบว่า บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการลงตีพิมพ์ในวารสารสภาวิชาชีพบัญชี ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของสภาวิชาชีพบัญชี มิใช่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนบทความแต่อย่างใด

 

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)

  1. 1. บรรณาธิการเป็นผู้พิจารณาต้นฉบับบทความที่ส่งเข้ามา ว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องตรงกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสารสภาวิชาชีพบัญชีหรือไม่ ในกรณีที่เนื้อหาบทความไม่เหมาะสม สอดคล้องกับวารสารฯ บรรณาธิการต้องรีบแจ้งให้ผู้เขียนบทความได้รับทราบ เพื่อส่งบทความไปพิจารณาในวารสารอื่นต่อไป
  2. 2. บรรณาธิการเป็นผู้ส่งต้นฉบับบทความให้กองบรรณาธิการวารสาร เพื่อช่วยพิจารณาคุณภาพเบื้องต้นของบทความที่ส่งเข้ามา ว่าอยู่ในระดับเหมาะสมที่จะส่งต่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความไม่น้อยกว่า 2 ท่าน อ่านพิจารณาในขั้นตอนต่อไปหรือไม่
  3. 3. หากบรรณาธิการไม่แน่ใจเกี่ยวกับเนื้อหาและคุณภาพเบื้องต้นของบทความเรื่องใด บรรณาธิการต้องไม่พิจารณาปฏิเสธบทความเรื่องนั้นทันทีด้วยใจอคติ โดยอาจพิจารณาขอความเห็นเพิ่มเติมจากกองบรรณาธิการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับเนื้อหาบทความนั้นก่อนเสมอ
  4. 4. บรรณาธิการเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในการประเมินบทความ โดยจะไม่เปิดเผยชื่อของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความหรือผู้เขียนบทความให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบโดยเด็ดขาด รวมทั้งบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
  5. 5. เมื่อเกิดกรณีที่ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความทั้ง 2 ท่าน มีความขัดแย้งกัน บรรณาธิการจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการกับบทความเรื่องนั้นอย่างไรต่อไป เช่น อิงตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความท่านใดท่านหนึ่ง หรือพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความท่านที่ 3 ต่อไป
  6. 6. บรรณาธิการเป็นผู้จัดสรรบทความที่ผ่านกระบวนการประเมินบทความและอยู่ในสถานะพร้อมตีพิมพ์เผยแพร่ โดยจะพิจารณาจากเหตุผลหลักคือ ลำดับก่อนหน้าของการส่งบทความ และความน่าสนใจ/ความหลากหลายของเนื้อหาบทความ รวมถึงเหตุผลในด้านความเหมาะสมอื่นเป็นสำคัญ
  7. 7. ในกรณีที่มีเหตุผลสำคัญ ที่อาจจะไม่นำบทความของผู้เขียนบทความเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลงตีพิมพ์ในวารสารสภาวิชาชีพบัญชี ในฉบับที่ตามที่ระบุในหนังสือตอบรับให้ได้นั้น บรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความดังกล่าว ลงตีพิมพ์ในวารสารสภาวิชาชีพบัญชี ในฉบับต่อ ๆ ไป ตามที่เห็นสมควร โดยบรรณาธิการจะต้องแจ้งให้ผู้เขียนบทความเรื่องนั้นได้รับทราบล่วงหน้าก่อนเสมอ
  8. 8. บรรณาธิการเป็นผู้ควบคุมและให้ความสำคัญต่อการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มของวารสารในแต่ละฉบับ รวมถึงการเผยแพร่ทางเว็บไซต์วารสาร ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และออกตรงตามกำหนดเวลา อย่างเคร่งครัด

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

  1. 1. ผู้ประเมินบทความมีหน้าที่อ่านพิจารณาความถูกต้องและความน่าสนใจของเนื้อหาบทความ ด้วยใจเป็นกลางและปราศจากอคติ ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้อ่านบทความจะได้รับ และพร้อมจะให้คำติชม ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปรับปรุงบทความที่สร้างสรรค์และชัดเจนในเชิงประจักษ์
  2. 2. เมื่อผู้ประเมินบทความได้รับการทาบทามในการขอความอนุเคราะห์ช่วยประเมินบทความจากกองบรรณาธิการ ผู้ประเมินบทความควรตอบรับการทาบทาม (หรือปฏิเสธการทาบทาม) ด้วยความรวดเร็วหรือตามกำหนดเวลาที่บรรณาธิการกำหนดไว้ และพึงระลึกเสมอว่า ไม่ควรเพิกเฉย ด้วยการไม่แจ้งตอบกลับใด ๆ (ตอบรับหรือปฏิเสธ) ให้กองบรรณาธิการทราบ
  3. 3. เนื่องจากเนื้อหาบทความในปัจจุบันมีความลึกซึ้งเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น ผู้ประเมินบทความควรตอบรับประเมินบทความที่มีเนื้อหาในข่ายที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้การประเมินบทความและการให้ข้อเสนอแนะทำได้อย่างเข้มข้นและเต็มกำลังความสามารถ เมื่อพบว่าตนอาจไม่มีความเชี่ยวชาญเนื้อหาในระดับที่มากพอจะวิจารณ์บทความเรื่องนั้นได้อย่างมีคุณภาพ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งปฏิเสธการประเมินบทความให้กองบรรณาธิการทราบ
  4. 4. เมื่อผู้ประเมินบทความทราบว่า ไม่สามารถส่งข้อเสนอแนะบทความได้ทันตามเวลาตามที่กองบรรณาธิการกำหนดไว้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้กองบรรณาธิการฯ ได้ทราบ พร้อมทั้งแจ้งกำหนดเวลาใหม่ในการส่งคืนข้อเสนอแนะบทความ
  5. 5. ผู้ประเมินบทความ ไม่ควรสอบถามกองบรรณาธิการหรือพยายามเสาะหาข้อมูล (ไม่ว่าจากแหล่งที่มาใด ๆ) เกี่ยวกับผู้เขียนบทความเรื่องที่ตนได้ตอบรับการอ่านพิจารณาคุณภาพ
  6. 6. ภายหลังจากการประเมินบทความและให้ข้อเสนอแนะในรอบที่ 1 เรียบร้อยแล้ว กรณีผู้ประเมินขอให้ผู้เขียนเสนอบทความฉบับแก้ไขให้ผู้ประเมินพิจารณาอีกครั้ง กองบรรณาธิการจะเสนอบทความที่ผู้เขียนได้แก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ประเมินบทความทำการประเมินบทความรอบที่ 2 และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งผลการพิจารณารอบสุดท้ายให้กองบรรณาธิการได้รับทราบต่อไป เช่น แจ้งเห็นควรตอบรับการตีพิมพ์ หรือแจ้งปฏิเสธการตีพิมพ์ หรือแจ้งข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับการแก้ไขปรับปรุงในรอบที่ 2 (หรือรอบที่ 3, 4) ต่อไป