ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคง

Main Article Content

รัตติยา สวัสดี
กลุ่มวิจัยฯ สำนักแผนฯ

บทคัดย่อ

       การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคงของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษามาพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัย คือ ข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ทำการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคง จำนวน 250 คน ใน 76 จังหวัด โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
       ผลการศึกษา พบว่า ผู้สอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคงที่มีเพศ อายุ สถานภาพ และระดับการศึกษาแตกต่างกัน ไม่มีผลกระทบต่อการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ แต่ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่มีประสบการณ์ในด้านการตรวจสอบบัญชีแตกต่างกัน ส่งผลต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์แตกต่างกัน
       ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคงของผู้สอบบัญชี ประกอบด้วย (1) ด้านเอกสารของสหกรณ์ที่ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ (2) ด้านบุคลากรของสหกรณ์ขาดความรู้และความเข้าใจด้านการเงินและการบัญชี (3) ด้านการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี (4) ด้านสหกรณ์ขาดเครื่องมือและระบบเทคโนโลยีในการบันทึกบัญชี โดยปัญหาด้านเอกสารของสหกรณ์ที่ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบมีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ = 4.16, SD = 0.755) นอกจากนี้ พบว่าปัจจัยทั้ง 4 ด้านมีความสัมพันธ์กับการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีความสัมพันธ์ในระดับค่อนข้างต่ำและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน
       ดังนั้น หากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคง ควรส่งเสริมในการจัดฝึกอบรมด้านกระบวนการตรวจสอบบัญชีให้แก่ผู้สอบบัญชี ผู้ช่วยผู้สอบบัญชี ผู้ควบคุมคุณภาพ และหัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งพัฒนาคู่มือระบบบัญชีของสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคง ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ และควรมีคู่มือในการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เคหสถาน/บ้านมั่นคงโดยเฉพาะ ส่วนด้านสหกรณ์ ควรพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการควบคุมภายในที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตหรือข้อผิดพลาด และให้บริการสมาชิกด้วยจิตวิญญาณของความเป็นสหกรณ์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2551). คู่มือระบบบัญชีสหกรณ์โครงการบ้านมั่นคง. สำนักนโยบายและมาตรฐาน.

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2560). รายงานจำนวนสหกรณ์ตามสถานภาพ. สืบค้นจาก https://intranet.cad.go.th/CAD_LOOP/CAD_COOP/home/login.php

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2562). รายงานจำนวนสหกรณ์ตามสถานภาพ. สืบค้นจาก https://intranet.cad.go.th/CAD_LOOP/CAD_COOP/home/login.php

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2560). รายงานงานฐานะทางการเงินล่าสุด. สืบค้นจากhttps://intranet.cad.go.th/cad2005/cad_center/index.php

ชุติกาญจน์ เกิดประกอบ. (2554). ปัญหาการจัดทำบัญชีของสหกรณ์ในจังหวัดอ่างทอง. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. สืบค้นจาก http://www.repository.rmutt.ac.th/

นรีรัตน์ ใยบัว และจุฑาทิพย์ สองเมือง. (2553). ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. สืบค้นจาก http://www.research.rmutt.ac.th/

มาริษา ทิพย์อักษร. (2552). ปัญหาของผู้ทำบัญชีในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยาลัยราชพฤกษ์.สืบค้นจากhttp://www.rpu.ac.th/Library_web/

รัตนาภรณ์ ชัยรัตนวงศ์. (2556). แนวทางการพัฒนาการควบคุมภายในของสหกรณ์ในโครงการบ้านมั่นคง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สืบค้นจาก http://thesis.swu.ac.th/

อัมรา เพียรบูชา. (2552). ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในเขตกรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. สืบค้นจาก https://www.spu.ac.th/account/files/