รูปแบบกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในการควบคุมน้ำหนักตัวของเด็กวัยเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกินในเขตเมือง
คำสำคัญ:
กิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ, เด็กวัยเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกินบทคัดย่อ
การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในการควบคุมน้ำหนักตัวของเด็กวัยเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกิน การศึกษามี 3 ระยะ คือ 1) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานควบคุมภาวะโภชนาการเกินของเด็กวัยเรียน 2) สร้างรูปแบบกิจกรรม และ 3) ทดสอบความเป็นไปได้ของรูปแบบกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างระยะที่ 1 ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักโภชนาการ ผู้ประกอบอาหารของโรงเรียน ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายที่มีภาวะโภชนาการเกิน รวมจำนวน 30 คน เครื่องมือการวิจัย คือ แบบสอบถามปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานฯ แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม ระยะที่ 2 สร้างรูปแบบฯ โดยใช้ข้อมูลระยะที่ 1 ร่วมกับการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 3 ทดสอบความเป็นไปได้ของรูปแบบกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างระยะที่ 3 มี 330 คน เครื่องมือวัดผลการทดสอบคือ ดัชนีน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของนักเรียน ผลการทดสอบภายใน 3 เดือน พบว่า นักเรียนที่มีภาวะโภชนาการท้วมเปลี่ยนแปลงเป็นสมส่วน นักเรียนที่เริ่มอ้วนเปลี่ยนแปลงเป็นท้วม แต่นักเรียนที่ภาวะโภชนาการอ้วนไม่มีการเปลี่ยนแปลง การทดสอบได้ผลว่ารูปแบบกิจกรรมที่สร้างขึ้นมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เพื่อควบคุมภาวะโภชนาการเกินของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย การศึกษาเสนอแนะให้ศึกษาซ้ำโดยใช้กลุ่มตัวอย่างและระยะเวลาทดสอบมากกว่าครั้งนี้
รูปแบบกิจกรรมที่นำเสนอประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม คือ 1) ประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การควบคุมภาวะโภชนาการเกินของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครูที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบอาหารของโรงเรียน ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน 2) ผู้ปกครองและครูจัดอาหารที่ครบถ้วนมีความพอดีทั้งพลังงานและปริมาณทั้งที่บ้านและโรงเรียน 3) ผู้ปกครองและครูจัดกิจกรรมการออกกำลังกายที่ถูกต้องทั้งที่บ้านและโรงเรียน 4) เด็กนักเรียนบริโภคอาหารถูกต้อง ออกกำลังกายทั้งที่บ้านและโรงเรียน บันทึกทุกวัน และส่งสมุดบันทึกฯ ให้ผู้ปกครองและครูประจำชั้น เพื่อการตรวจสอบ