จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์บทความในวารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ

          วารสารอินทนิลทักษิณสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นวารสารทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณภาพของวารสารและการรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ ทั้งในส่วนของบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ กองจัดการวารสาร ผู้เขียนบทความ และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ วารสารตระหนักและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในกระบวนการตีพิมพ์บทความในวารสาร จึงได้กำหนดจริยธรรมการตีพิมพ์บทความในวารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ ตามบทบาทหน้าที่ไว้ดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)

  1. ผู้เขียนบทความจะต้องเขียนบทความตามรูปแบบ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน “หลักเกณฑ์การส่งบทความวารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ”
  2. ผู้เขียนผลงานจะต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ในวารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ จะต้องไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารอื่นมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเผยแพร่การตีพิมพ์ในวารสารอื่น
  3. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความ จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในบทความนั้นจริง
  4. ผู้เขียนรับรองว่าเนื้อหาในบทความเกิดจากการสังเคราะห์ความคิดขึ้นโดยผู้นิพนธ์เอง ไม่ได้ลอกเลียนหรือตัดทอนมาจากผลงานวิจัยของผู้อื่นร่วมถึงคัดลอกผลงานวิชาการของตนเอง หรือจากบทความโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือปราศการการอ้างอิงที่เหมาะสม
  5. ผู้เขียนจะต้องรับรองว่าบทความวิจัยที่ส่งมาตีพิมพ์เผยแพร่นี้ ได้ผ่านการทำวิจัยและได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แล้ว โดยบรรณาธิการวาสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ สามารถร้องขอให้ผู้นิพนธ์ ส่งเอกสารการขออนุมัติจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (IRB) จากคณะกรรมการทางจริยธรรมในงานของผู้นิพนธ์ เพื่อยืนยันความถูกต้องตามหลักจริยธรรมอันเป็นการคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวขัองกับการวิจัย
  6. ผู้เขียนบทความยินดีแก้ไขบทความตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิ และบรรณาธิการเสนอแนะ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  7. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการทำวิจัย และระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
  8. ผู้เขียนบทความจะต้องอ้างอิงผลงาน ภาพ หรือตาราง หากมีการนำมาใช้ในบทความของตนเอง โดยให้ระบุ “ที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น)
  9. ข้อความที่ปรากฏในบทความและองค์ประกอบทั้งหมดของบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความแต่เพียงผู้เดียว

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้อง และคุณภาพของบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ในวารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าเนื้อหาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  2. บรรณาธิการต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
  3. บรรณาธิการต้องไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความ และผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ
  4. บรรณาธิการวารสารต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านข้อมูลของผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง (Double – Blind)
  5. บรรณาธิการวารสารจะต้องแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับสาขาวิชาของบทความนั้น ๆ เพื่อทำการประเมินคุณภาพบทความ
  6. บรรณาธิการต้องตีพิมพ์บทความที่ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว และผู้นิพนธ์ได้ทำการปรับแก้ตามข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเท่านั้น
  7. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัดและรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงการพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยอยู่เสมอ
  8. บรรณาธิการต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  9. บรรณาธิการรับผิดชอบวารสารให้ตรงตามกำหนดวาระในการตีพิมพ์

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties of Peer Reviews)

  1.  เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการประสานให้พิจารณาประเมินบทความ ขอให้แจ้งตอบรับการพิจารณาบทความให้บรรณาธิการวารสารทราบ ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระ ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิปฏิเสธการประเมินบทความในเรื่องนั้น
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการ โดยปราศจากอคติ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อผู้นิพนธ์ในการอ้างอิงที่เหมาะสม น่าเชื่อถือ เพื่อให้บทความมีคุณภาพ มิใช่ ประเมินเฉพาะรายละเอียดของภาษาหรือ Format และไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนเองเชี่ยวชาญ และมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาบทความที่รับประเมินอย่างแท้จริง โดยมีการประเมิน/วิจารณ์เนื้อหาบทความและให้ข้อคิดเห็นในเชิงวิชาการ หากไม่สามารถประเมินบทความได้ต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบทันที
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่นวิชาการ และให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ
  5. ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาแล้วเห็นว่าบทความที่ประเมินมีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงาน / บทความชิ้นอื่นๆ ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย เพื่อป้องกันการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ (Plagiarism)
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ได้รับพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (Confidentiality)
  7. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  8. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากบทความที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  9. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่วารสารกำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้อื่นได้รับรู้

 

กองบรรณาธิการวารสารอินทนิลทักษิณสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

30 ธันวาคม 2562