แนวทางการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนภูมิสมิทธ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1.) เพื่อสำรวจสภาพการดำเนินกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนภูมิสมิทธ์ และ 2.) เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนภูมิสมิทธ์ วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1.) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการดำเนินกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนภูมิสมิทธ์ ด้วยแบบสอบถามจากครูในโรงเรียนทั้งหมด 49 คน เพื่อประเมินความต้องการจำเป็น 2.) ศึกษาแนวทางในการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนภูมิสมิทธ์ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการศึกษา 2 ท่าน และผู้บริหารโรงเรียน 3 ท่าน
ผลการวิจัยพบว่ากิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนที่มีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสูง เป็นกิจกรรมที่อยู่ในขั้นตอน 1.) การประชุมเตรียมการ 2.) การลงมือพัฒนาบทเรียนร่วมกัน และ 3.) การสื่อสารระหว่างทาง ซึ่งกิจกรรมที่มีความต้องการจำเป็นสูงที่สุด 3 อันดับได้แก่ 1.) การแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนโดยครูเพื่อนร่วมเรียนรู้ 2.) การชี้แจงบทบาทหน้าที่ของครูแต่ละคนในดำเนินกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้จากผู้บริหาร และ 3.) การจัดการสะท้อนคิดผลปฏิบัติงานภายใน 1 วันนับจากการสังเกตการเรียนรู้ในชั้นเรียนสิ้นสุดลง
ผลการวิจัยยังพบอีกว่า แนวทางการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมชุนชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพประกอบด้วย 1.) ผู้บริหารต้องกำหนดเป้าหมายของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยให้ครูมีส่วนร่วม 2.) ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจในชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างถ่องแท้ 3.) ผู้บริหารต้องกำหนดแนวทางและรูปแบบการดำเนินกิจกรรม 4.) ครูในกลุ่มเรียนรู้ต้องแสดงความคิดเห็นต่อแผนการสอนโดยใช้แนวคิดการออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ 5.) ครูในกลุ่มเรียนรู้ต้องกำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือพัฒนาในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง 6.) การสังเกตการเรียนรู้ของนักเรียนต้องเน้นในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้ 7.) การสะท้อนคิดผลการจัดการเรียนรู้ต้องเน้นในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้ 8.) ควรบันทึกวิดิโอหรือจดบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ตามประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้ 9.) กลุ่มเรียนรู้ควรมีช่องทางการสื่อสารออนไลน์ภายในกลุ่ม และ 10.) โรงเรียนควรจัดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลร่วม