การพัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลปและการเต้นไลน์แดนซ์ที่มีต่อ ความดันโลหิต ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและหายใจและการทรงตัวของผู้สูงอายุ ในชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองหนองคาย

Main Article Content

Jaroonsak Pantawisit

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความต้องการในการออกกำลังกายผู้สูงอายุ  2. เพื่อพัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลปและการเต้นไลน์แดนซ์ในผู้สูงอายุ  3. เพื่อทดลองการใช้โปรแกรมพร้อมนำผลมาเปรียบเทียบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพในการใช้โปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลปและการเต้นไลน์แดนซ์ระหว่างช่วงเวลาก่อนการเข้าร่วมโปรแกรม หลังการเข้าร่วมโปรแกรมสัปดาห์ที่ 4 6 และ 8 ดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาพฤติกรรมและความต้องการในการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ  เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามพฤติกรรมและความต้องการในการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ  กลุ่มตัวอย่างเป็นชมรมผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองหนองคาย อายุ 60-74 ปี จำนวน 368 คน ใช้วิธี การกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของ Krejcie และ Morgan (1970)  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าร้อยละ ระยะที่ 2 การพัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลปและการเต้นไลน์แดนซ์ นำโปรแกรมทั้ง 2 โปรแกรมไปประเมินหาความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญพิจารณาและทำการทดสอบหาความเชื่อถือได้ โดยการทดสอบซ้ำกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน นำไปทำการศึกษานำร่อง เพื่อหาความเป็นไปได้ของโปรแกรมในสภาพจริง ระยะที่ 3 ทดลองโปรแกรมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ 60-74 ปี  เพศชายและเพศหญิง จำนวนขนาดกลุ่มตัวอย่าง 60 คน เพศชาย 30 คน เพศหญิง 30 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ทำการทดสอบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ ในช่วงก่อนการทดลอง ภายหลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 4  6 และ 8 นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ เมื่อพบความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ใช้วิธีการ Scheffe’ กำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


            ผลการวิจัย พบว่า เมื่อเปรียบเทียบสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุที่ใช้โปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลปและการเต้นไลน์แดนซ์ของเพศชาย ความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและความดันโลหิตเมื่อหัวใจคลายตัว ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและหายใจ และการ


ทรงตัวในผู้สูงอายุ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนเพศหญิง พบว่า ความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและความดันโลหิตเมื่อหัวใจคลายตัว ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและหายใจ และการทรงตัวในผู้สูงอายุ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากการวิจัยครั้งนี้สรุปว่า การออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลปและการเต้นไลน์แดนซ์ มีความเหมาะสม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิงได้

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)