โมเดลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนขนาดเล็กในศตวรรษที่ 21: การประยุกต์ใช้แนวคิดการประเมินแบบเสริมพลังอำนาจและแนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

Main Article Content

Thanyarat Chidthaisong

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2) พัฒนาโมเดลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนขนาดเล็กตามแนวคิดการประเมินแบบเสริมพลังอำนาจและชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ 3) ทดลองและประเมินการใช้โมเดล 4) สรุปบทเรียน โดยใช้แบบแผนการวิจัยและพัฒนา ดำเนินการวิจัย 4 ระยะ ตามวัตถุประสงค์การวิจัย โดย ระยะที่ 1 ใช้การสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัย ระยะที่ 2 พัฒนาโมเดลและประเมินผลโมเดลโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ระยะที่ 3 ทดลองและประเมินการใช้โมเดล และระยะที่ 4 สรุปบทเรียนโดยกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย อันได้แก่ ผู้บริหารและครูของโรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เทคนิคและเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ตารางสังเคราะห์เอกสารและตารางเหตุผลสัมพันธ์ การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง แบบประเมินคุณภาพโมเดล มีลักษณะเป็นแบบมาตรประเมินค่า 5 ระดับคุณภาพ กิจกรรม PLC และบันทึกภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนคือ
1) กลยุทธ์การพัฒนา 2) ระบบสนับสนุน 3) กลไกการขับเคลื่อน 4) การจัดการความรู้ และ 5) การประเมินผล ทำให้ได้โมเดลการพัฒนาผู้เรียนประกอบด้วย 1) ปัจจัยนำเข้าคือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา กลยุทธ์การพัฒนา ระบบส่งเสริมสนับสนุน 2) กระบวนการ ซึ่งขับเคลื่อนโดยกิจกรรม PLC ร่วมกับแนวคิดการประเมินแบบเสริมพลังอำนาจ 3) ผลผลิต คือ คุณภาพครู ผู้เรียน และการบริหารจัดการสถานศึกษา โมเดลมีมาตรฐานการใช้ประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมามีมาตรฐานด้านความถูกต้อง ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ตามลำดับ สรุปบทเรียนได้ว่า แรงจูงใจของครูเกิดขึ้นเพราะความหวังและการรับรู้สภาพจริงของสถานศึกษา การประเมินผู้เรียนเพื่อพัฒนาส่งผลต่อการกำหนดแผนงานพัฒนาที่ถูกต้องชัดเจนและทำงานร่วมกันได้ง่าย การใช้การประเมินเป็นหลักอิงในการทำงาน ให้ผลเชิงบวกต่อการพัฒนา โดยเน้นความก้าวหน้าในการทำงานส่งผลดีมากกว่าคำนึงถึงมาตรฐาน และ การมีจิตเคารพกันให้ผลงานที่ดี

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)