ปัญหากฎหมายในการบังคับชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560

ผู้แต่ง

  • วิชุดา ธนมิตรามณี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.

คำสำคัญ:

กองทุนเงินให้กู้ยืม, การศึกษา, การบังคับชำระหนี้

บทคัดย่อ

บทความเรื่องปัญหากฎหมายในการบังคับชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความเป็นมา แนวคิดและหลักการเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและหน้าที่รัฐในการให้การศึกษาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อศึกษาปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากฎหมายเกี่ยวกับหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จากการศึกษาพบว่า ประเด็นที่ 1 การค้ำประกันได้มีการกำหนดให้บิดา มารดา ผู้ปกครองของผู้กู้สามารถเป็นผู้ค้ำประกันได้ ซึ่งให้ความเป็นจริงแล้วบุคคลเหล่านี้มักจะมีฐานะยากจนเช่นเดียวกับผู้กู้ ดังนั้นหากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้และไปบังคับเอาจากผู้ค้ำประกันก็จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นมีฐานะยากจนเช่นเดียวกับลูกหนี้ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้สูญ แต่หากมีการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันให้ต้องเป็นบุคคลอื่นนอกเหนือจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กู้แล้วก็อาจจะเป็นการเพิ่มภาระและอุปสรรคให้แก่ผู้กู้ เนื่องจากไม่สามารถหาบุคคลมาค้ำประกันได้ อันจะส่งผลทำให้ไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ ประเด็นที่ 2 ปัญหาหนี้ค้างชำระและการฟ้องร้องบังคับคดี พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ผู้กู้ไม่ยอมชำระหนี้เงินคืนให้แก่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หลังจากที่สำเร็จการศึกษาหรือพ้นสภาพตามที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กำหนด ซึ่งมีสาเหตุอันเนื่องมาจากกฎหมายที่ใช้บังคับยังไม่มีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาดจนผู้กู้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าค้างชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นอกจากนี้เมื่อพิจารณาระยะเวลาการปลอดหนี้และการติดตามข้อมูลฐานะของผู้กู้เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วพบว่ายังมีช่องว่างทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการคืนเงินดังกล่าวเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ได้ และในกรณีที่ผู้กู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาไปแล้วประกอบอาชีพอิสระก็จะเป็นการยากที่จะเข้าถึงฐานข้อมูลการเสียภาษีในกรณีที่ผู้กู้นั้นหลีกเลี่ยงการเสียภาษีด้วย หรือแม้แต่กรณีที่ผู้กู้ทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ หากผู้กู้ไม่แจ้งข้อมูลการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หัวหน้างานก็จะไม่สามารถทราบถึงข้อเท็จจริงเพื่อทำการหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ตามที่กฎหมายกำหนดได้ สุดท้ายประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสุจริตของผู้กู้ที่พบว่ามีช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้ผู้กู้บางคนซึ่งมิใช่ผู้ที่ขาดแคลนแต่มีเจตนาไม่สุจริตแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับรายได้ของครอบครัวเพื่อให้เข้ากับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถยื่นกู้เงินกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ได้ เนื่องจากเพียงมีการนำเอกสารการรับรองรายได้ของครอบครัวที่ทำการรับรองโดยบุคคลที่กฎหมายกำหนดไปยื่นก็สามารถนำไปประกอบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ ซึ่งในความเป็นจริงผู้รับรองส่วนมากรับทราบรายได้ของครอบครัวจากตัวของผู้กู้เองเท่านั้น จึงทำให้เกิดช่องว่างอันเป็นปัญหากฎหมายอีกประการ ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความรัดกุมเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังที่เสนอมาก็จะทำให้เกิดประโยชน์และใช้แก้ปัญหาข้างต้นได้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงมีความไม่ชัดเจนและมีปัญหาอันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งตลอดจนคดีพิพาทเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ซึ่งบทความนี้อาจใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาวิจัยให้ละเอียดต่อไป

References

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา. (2560). ความเป็นมา. ค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2560, จาก https://www.studentloan. or.th/th/aboutus.

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา. (2560). ระเบียบ และประกาศสำหรับการให้กู้ยืม ปีการศึกษา 2561. ค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2561, จาก https://www.studentloan.or.th/th/news/1548916450.

กิ่งกาญ แก่นจันทร์. (2560). ทักษะการบริหารงานของผู้บริหารในเครือโรงเรียนสารสาสน์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารวิจัยราชภัฏธนบุรี รับใช้สังคม. ปีที่ 3 (ฉบับที่ 1), หน้า 107-123. ค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560, จาก https://research.dru.ac.th/e-journal/file/2017_06_29_095510.pdf.

กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2537). ความเป็นมาและหลักการใช้นิติวิธีในระบบซิวิลลอว์และคอมมอนลอว์ (ตอนที่ 2). นิตยสารสำนักงานศาลยุติธรรม ดุลพาห. ปีที่ 41 (ฉบับที่ 1), หน้า 50-74. ค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2560, จาก http://elib.coj.go.th/Article/d41_2_5.pdf.

ปัญหาการเงินแห่งชาติที่แก้ไม่ตก. (2559). ค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560, จาก https://moneyhub .in.th/article/ thai-studentloan-problem/.

ยุวดี อินทร์สุพัตรา. (2558). รายงานการศึกษาเรื่องปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค กรณีการบอกเลิกสัญญา. ค้นเมื่อ 10 เมษายน 2561, จาก http://www.ocpb.go.th/download/article/article_ 20180223091146.pdf.

เลอลักษณ์ แสงอัมพร และสุชาติ ทวีพรปฐมกุล. (2558). ความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการที่มีต่อศูนย์เยาวชนมิติใหม่กรุงเทพมหานคร. วารสารวิจัยราชภัฏธนบุรี รับใช้สังคม. ปีที่ 1 (ฉบับที่ 1), หน้า 100-112. ค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560, จาก https://research.dru.ac.th/e-journal/file/2015_12_30_151453.pdf.

วรงค์พร จิระภาค. (2556). ปัญหาข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศึกษากรณีสัญญาที่จอดรถยนต์. ค้นเมื่อ 10 เมษายน 2561, จาก http://elib.coj.go.th/managecourt/data/MC2557_17_71.pdf.

ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2559). คำอธิบายนิติกรรมสัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 20. กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน.

ศิริลักษณ์ ประภาศิริ. (2559). หลักเสรีภาพในการเลือกกฎหมายในสัญญาระหว่างประเทศ ตาม Rome I Regulation 2008. ค้นเมื่อ 20 เมษายน 2561, จาก http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/ 123456789/55461/1/5686024234.pdf.

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ. (2559). รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ..... . ค้นเมื่อ 10 เมษายน 2561, จาก http://library2.parliament.go.th/giventake /content_nla2557/d111759-09.pdf.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2560). ห้องสมุดกฎหมาย. ค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2560, จาก http://www.krisdika. go.th.

สุพิศ ประณีตพลกรัง. (2561). หลักและทฤษฎีกฎหมายแพ่ง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : นิติธรรม.

เสนีย์ ปราโมช. (2559). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1 (ภาค 1-2). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน.

MoneyHub. (2560). ให้นายจ้างหักเงินเดือนใช้หนี้กองทุน! พ.ร.บ. กยศ. ใหม่ ประกาศใช้แล้ว(ข่าว).
ค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560, จาก https://moneyhub.in.th/article/new-student-loan-announcement/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28