คุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • พระวิทยา อิทฺธิญาโณ (กางเกตุ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พระมหาสม กลฺยาโณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • โกนิฏฐ์ ศรีทอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

คำสำคัญ:

คุณภาพการให้บริการ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ (1) เพื่อศึกษาคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม (2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชน ต่อคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล (3) เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนา คุณภาพการให้บริการ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจประชากร ที่ใช้ในการวิจัยคือ ประชาชนผู้เคยใช้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จาก 17 หมู่บ้าน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ จำนวน 1500 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) และกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางกลุ่มตัวอย่างสำเร็จรูปของ ทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) จำนวน 316 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัย ทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของประชากร คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยเพื่อบรรยายข้อมูลปัจจัย ส่วนบุคคล การทดสอบค่าทีเพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวเพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยใช้เทคนิค การวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า 1. คุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ประชาชนมีความคิดเห็นว่า คุณภาพการให้บริการโดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.06 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน 2. ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า คุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน อาชีพ การดูแลสุขภาพตนเอง และการออกกำลังกาย พบว่า ประชาชนที่มีเพศ อายุ รายได้ต่อเดือน การดูแลสุขภาพตนเอง และการออกกำลังกาย ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนประชาชนที่มี อาชีพ ระดับการศึกษา ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ไม่แตกต่างกัน 3. แนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ (1) ผู้บริหารควรจัดอบรม การส่งเสริมการให้บริการประชาชนเพื่อให้บรรลุวัตถุตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของหน่วยงาน (2) ควรให้การอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อใหญ่ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการรับทราบนโยบาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ (3) ต้องเร่งดำเนินการเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทุกรูปแบบ โดยจัดคณะทำงานหรือเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม (4) เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทุกระดับต้องร่วมกันดำเนินการสำรวจ ปรับปรุงและพัฒนาตนเองในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และจัดให้มีโครงการที่สามารถประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้

References

กู้ชัย ประยูรคง. (2556). ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการต่อการให้บริการของโรงพยาบาล
สามพราน. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร มหาวิทยาลัยทองสุข.

เกษม พิพัฒน์ปัญญานุกูล. (2541). การควบคุมคุณภาพ : Quality control. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ประกอบเมไตร.

จินตนา บุญบงการ. (2539). การสร้างจิตสำนึกการให้บริการปรับปรุงการบริการภาครัฐ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ ฟอร์แมทพริ้นติ้ง.

ชูชัย ศุภวงศ์ และคณะ. (2552). คู่มือการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.

ทิพย์สุคนธ์ ศรีลาธรรม. (2560). คุณภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตอำเภอ
บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น.

ธีรกิติ นวรัตน ณ อยุธยา. (2547). การตลาดสำหรับการบริการแนวคิดและกลยุทธ์. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิตย์ สัมมาพันธ์. (2535). การบริหารคุณภาพแบบญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา.
ปิยวรรณ หอมจันทร์. (2555). คุณภาพการให้บริการโดยประยุกต์ใช้หลักสังคหวัตถุธรรมของข้าราชการ ตำรวจทางหลวง. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย.

สุพัตรา ศรีวณิชชากร และคณะ. (2554). สถานการณ์ระบบบริการปฐมภูมิ ในประเทศไทย ปีพ.ศ. ๒๕๕๓. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพัฒนไพศาล.

สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย และคณะ. (2555). แผนการตรวจราชการและนิเทศงานระดับกระทรวง กระทรวง สาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555, การดำเนินงานเพื่อสนองนโยบายและแก้ไขปัญหา เร่งด่วน. ค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560, จากแหล่งที่มา http://phmahidolbhusita.blogspot.com /2010/02/blog-post.html

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28