Strategic Management: Text and Cases 7th edition
Main Article Content
บทคัดย่อ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือทางวิชาการเล่มแรกๆที่ผู้เขียนได้ใช้เป็นหนังสือหลักในการสอนให้กับนักศึกษาปริญญาตรีต่างชาติ เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้ศึกษาในระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ ต่อมาผู้เขียนใช้หนังสือเล่มนี้ในการบรรยายในรายวิชา การบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ให้กับนิสิตไทยและต่างชาติในระดับปริญญาโท หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ติดอันดับต้นๆ ของหนังสือทางวิชาการที่ดีที่สุดของผู้เขียน คือ การจัดหมวดหมู่ของแต่ละบทที่แสดงให้เห็นทั้งลำดับทางความคิดของผู้แต่งและการจัดวางกรอบทางความคิดที่เป็นขั้นตอน นั่นหมายถึง ผู้แต่งได้แบ่งกลุ่มของเนื้อหาทั้ง 12 บท ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ part 1 Strategic Analysis (การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์) (รวมบทที่ 1-4), part 2 Strategic Formulation (การกำหนดขั้นตอนเชิง
กลยุทธ์) (รวมบทที่ 5-8), และ part 3 Strategic Implementation (การดำเนินงานเชิงกลยุทธ์) (รวมบทที่ 9-12) ผู้เขียนมองว่า การแบ่งเป็นกลุ่มของเนื้อหาแบบนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคิดในการทำงานทุกงานที่ควรต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ ตามด้วยการกำหนดขั้นตอน และการดำเนินงานตามขั้นตอนที่ได้วางแผนไว้ในขั้นสุดท้าย นอกจากนี้ หากผู้เขียนมองจากมุมมองของผู้สอน การแบ่งกลุ่มแบบนี้ทำให้ผู้สอนสามารถแบ่งเนื้อหาเพื่อทำการประเมินการเรียนการสอนได้ชัดเจนว่าต้องการประเมินทักษะด้านใดเป็นพิเศษของผู้เรียน ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้สอนด้วยได้ประเมินการเรียนการสอนโดยการจัดสอบย่อยทั้งหมด 3 ครั้งตามการจัดกลุ่ม 3 กลุ่ม ทำให้ผู้สอนสามารถประเมินทักษะ 3 ด้านของผู้เรียนได้อย่างคร่าวๆ ได้แก่ ทักษะด้านการวิเคราะห์, ด้านการกำหนดขั้นตอน และด้านการดำเนินงาน
อีกหนึ่งเหตุผลคือในแต่ละบท ผู้แต่งเลือกที่จะเปิดเนื้อหาด้วยกรณีศึกษา Learning from Mistakes (การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด) พร้อมกับตั้งคำถามเพื่อการอภิปราย ผู้แต่งเชื่อว่าข้อผิดพลาดทางธุรกิจ เช่น ผลประกอบการตกต่ำ การปิดกิจการ การล้มละลาย เป็นต้น เป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การศึกษามากกว่าข้อเรียนรู้จากความสำเร็จของธุรกิจ เพราะข้อผิดพลาดทำให้ผู้อ่านได้วินิจฉัยปัญหาและหาทางแก้ ซึ่งผู้แต่งเสริมว่าข้อผิดพลาดนี่แหละคือของจริงในโลกธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้แต่งได้ใส่ใจรายละเอียดในเนื้อหาเพื่อกระตุ้นต่อมกระหายการเรียนรู้ของผู้อ่าน เช่น การเริ่มแต่ละบทด้วยจุดประสงค์การเรียนรู้ การมีกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้อ่านเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของหลากหลายธุรกิจ และปิดแต่ละบทด้วยคำถามเพื่อทบทวนเนื้อหาเชิงทฤษฎี แบบฝึกหัดให้ทดลองปฏิบัติจริง คำถามประยุกต์จากเนื้อหาที่เรียน และคำถามจริยธรรมทางธุรกิจ