การแปรรูปเขียนคำทับศัพท์หมวดคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ของนักศึกษาต่างสาขาวิชา

ผู้แต่ง

  • อรวี บุนนาค คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

การแปรของภาษา, คำทับศัพท์, รูปเขียน

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของการแปรรูปเขียนคำทับศัพท์หมวดคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและเพื่อเปรียบเทียบการแปรรูปเขียนคำทับศัพท์หมวดคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของนักศึกษาต่างสาขาวิชา คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล รวม 30 คน

ผลการวิจัยลักษณะของการแปรรูปเขียนคำทับศัพท์หมวดคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของนักศึกษาพบว่า นักศึกษาใช้รูปเขียนแปรที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสภาคิดเป็นร้อยละ 31.13 และใช้รูปเขียนแปรที่ไม่ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 68.87 ลักษณะของการแปรรูปเขียนแปรคำทับศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง มี 3 ลักษณะ ได้แก่ การเพิ่มรูป การลดรูปและการเปลี่ยนรูป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหน่วยต่าง ๆ ของโครงสร้างพยางค์ ได้แก่ รูปพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวการันต์ หรือเกิดกับเครื่องหมาย ได้แก่ ไม้ไต่คู้ ทัณฑฆาต ยัติภังค์ และการเว้นวรรคตอน นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่าคำทับศัพท์ 1 คำสามารถปรากฏเป็นรูปเขียนแปรได้มากที่สุดถึง 23 รูปแปร

สาเหตุของการใช้รูปเขียนคำทับศัพท์พบว่ามีสาเหตุสำคัญสองประการ ได้แก่ การใช้หลักการเขียนตามการออกเสียงคำทับศัพท์ของตนเองและการใช้ตามสื่อมวลชน ส่วนผลการเปรียบเทียบการแปรรูปเขียนคำทับศัพท์ของนักศึกษาต่างสาขาวิชาพบว่า นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยใช้รูปเขียนแปรคำทับศัพท์ได้ถูกต้องตรงตามราชบัณฑิตยสภาน้อยที่สุด นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบการแปรรูปเขียนคำทับศัพท์ของนักศึกษาต่างสาขาวิชาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงอนุมานพบว่า นักศึกษาสาขาวิชาต่างกันเลือกใช้รูปเขียนแปรคำทับศัพท์หมวดคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

References

กิติมา อินทรัมพรรย์. (2544). “การทับศัพท์ภาษาอังกฤษและการออกเสียง” ใน วรรณา นาวิกมูล, บรรณาธิการ. มนุษยศาสตร์: สหวิทยาการแห่งชีวิต. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะ มนุษยศาสตร์.
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). การสุ่มตัวอย่างเพื่อการวิจัย. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม
2558, จาก https://plan.eng.cmu.ac.th/website/wp-content/uploads/2015/07/ sampling.pdf
บุญธรรม กรานทอง. (2547). การวิเคราะห์ลักษณะศัพท์บัญญัติจากภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตยสถาน และลักษณะรูปแบบที่ปรากฏในกลุ่มผู้ใช้ตามแนวสัทวิทยา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปรารถนา ผดุงพจน์. (2546). การศึกษาการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 อ. เมือง จ. ปทุมธานี. สารนิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต. (ภาษาศาสตร์ การศึกษา). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ผะอบ โปษกฤษณะ. (2554). ลักษณะเฉพาะของภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์.
รัชตพล ชัยเกียรติธรรม. (2548). การวิเคราะห์การใช้คำทับศัพท์ในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่มีผลต่อ การเขียนคำทับศัพท์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต. (การสอนภาษาไทย). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2549). ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
ราชบัณฑิตสถาน. (2555). ข่าวประชาสัมพันธ์ ราชบัณฑิตยสถานยืนยันไม่แก้คำยืมจากภาษาอังกฤษใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2558, จาก https://hilight.kapook.com/view/76764
ราชบัณฑิตยสภา. (ม.ป.ป.). หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2558, จาก https://www.royin.go.th/wp-content/uploads/2015/03/2371_6847.pdf
ราชบัณฑิตยสภา. (2559). ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2559, จาก
https://www.royin.go.th/?page_id=822
เรวัติ แสงสุริยงค์. (2558). “ยุคทองของนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย” ใน วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 23(42), 1-23
อมรา ประสิทธิรัฐสินธุ์. (2544). ภาษาศาสตร์สังคม. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-30